เรียกได้ว่ากำลังกลายเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ และต่างพากันแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก ภายหลังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพแชตกับหัวหน้างาน ที่ชื่อว่า “พี่กบ” โดยเธอขอลางานไปดูใจแม่ที่กำลังจะเสียชีวิต ที่นอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล พร้อมภาพแม่ที่นอนป่วยอยู่ และเอกสารทางการแพทย์ แต่กลับปรากฏว่า ไม่ได้รับอนุญาต แถมเมื่อแม่เจ้าของโพสต์เสียชีวิต จะขอกลับบ้าน แต่ “พี่กบ” กลับบอกว่า ถ้าเสร็จธุระแล้วก็ให้มาเขียนใบลาออก จนเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่วโลกออนไลน์ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
-พายุกระหน่ำลงเพจ ‘พี่กบ หัวหน้าใจดำ’ ให้ลูกน้องลาออก หลังลางานไปดูใจแม่สิ้นลม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้แสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าว ผ่านทางแฟนเพจ “ทนายคู่ใจ” โดยระบุว่า สังคมมองว่าทำไม HR ไม่มีความเมตตา ไม่เข้าใจเพื่อนมนุษย์ ไม่เข้าใจสิ่งที่มนุษย์โลกทั่วไปเขาเป็น พ่อแม่จะเป็นจะตาย คนเป็นลูกต้องมีสิทธิไปดูแลรักษาก่อนตาย ไม่มีใครบ้าทำงาน ไม่สนใจคนในครอบครัว คนที่เป็น HR หรือหัวหน้างาน ที่บอกว่าลาไม่ได้ ถ้าเจอเหตุการณ์เดียวกัน คุณจะเป็นแบบไหน

ประเด็นก็คือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เราจะทำอะไร เราก็ต้องดูกติกา สังคมอาจจะเห็นใจลูกจ้าง แต่กติกาเขาบอกว่า การลากิจ ลาได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี คือนายจ้างต้องให้ลูกจ้างสามารถลากิจได้ แต่การลากิจไม่ได้หมายความว่า ไลน์ไปบอกว่าลาแล้วจะหยุดได้ทันที คำว่าลาต้องรอให้นายจ้างอนุมัติด้วย ถึงจะลากิจได้ เพราะว่าการลากิจได้เงินเดือน

แต่การที่ลากิจแล้วเขาไม่ให้ลากิจแล้วให้ไปลาออกเลย อันนี้ในทางข้อกฎหมาย มองมุมหนึ่งก่อนคือ เมื่อลูกจ้างลาไม่ได้ ลูกจ้างหยุดงาน ก็มีสิทธิขาดงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่ติดต่อนายจ้างเลย นายจ้างถึงจะมีสิทธิไล่ออกได้ แต่นั่นคือการขาดงานติดต่อกัน 3 วัน ในกรณีของเคสดังที่ลา 1 วัน พาแม่ไปหาหมอ แล้วแม่เสียชีวิต ก็เท่ากับขาดงานแค่ 1 วัน จะไล่ออกไม่ได้ การให้เขียนใบลาออก เป็นการบีบบังคับลูกจ้าง ซึ่งลูกจ้างไม่ได้สมัครใจจะลาออก ก็เรียกว่าเป็นการไล่ออก

มาในมุมของนายจ้างบ้าง เมื่อเจอลูกจ้างลาบ่อย ถ้า HR ดูแลพนักงานแบบนี้ ในฐานะนักท่องเที่ยวไปเที่ยวโรงแรมหรูๆ แบบนี้ เราก็อยากให้เงินของเราเนี่ย จ่ายค่าโรงแรมไปถึงพนักงาน ครอบครัวของลูกจ้าง ให้เขามีความสุข เพราะอย่าลืมว่าเป็นโรงแรมหรู คนไปเที่ยวก็คือคนมีเงิน ตัวลูกค้านักท่องเที่ยวมีความสุข ก็อยากให้คนอื่นมีความสุขด้วย ถ้า HR บริหารแบบนั้น เราเป็นลูกค้า เราก็คงไม่ไปใช้บริการ ถ้าโรงแรมไม่ออกมาชี้แจงหรืออธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น หรือลูกจ้างคนนี้ลาอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว จนนายจ้างไม่ไหว ก็ให้ออกมาพูดเลย จะได้เข้าใจในมุมของนายจ้าง

“รถทัวร์ที่กำลังไปลงนายจ้าง ก็อยากให้ฟังคำอธิบายก่อน อาจจะมีบางเหตุผลก็ได้ คนเราเวลาโพสต์ก็จะโพสต์ในมุมของตัวเอง ต้องดูเรื่องนี้กันต่อไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ขาดงานแค่ 1 วัน ยังไล่ออกไม่ได้นะ”

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @ทนายคู่ใจ