ต่อมาเวลา 11.00 น.วันที่ 22 ส.ค. ที่รัฐสภา เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยมีสส.เสียบบัตรแสดงตนรับรอง 287เสียง ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็น

 โดยนายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร สว. อภิปรายว่า สว.มีหน้าที่จะต้องพิจารณาคัดเลือก แต่ สว.ยังไม่รู้จักคนที่จะเป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำเอกสารแจ้ง สว.ว่า นายเศรษฐาเป็นใคร มีประวัติอย่างไร เจอแต่ข่าวด้านลบตลอด เรื่องเลี่ยงภาษี ผิดจริยธรรม ขณะนี้นายเศรษฐาถูกโจมตีตลอด แล้วจะไปเลือกได้อย่างไร จะเอาประเทศมาเสี่ยง เอาประชาชนมาเป็นตัวประกันได้อย่างไร นายเศรษฐาถูกกล่าวหาเลี่ยงภาษีซื้อขายที่ดิน ซื้อที่ดิน 12 แปลง 12วัน แต่เซ็นสัญญาซื้อขายวันละแปลง เจตนาเลี่ยงภาษี ให้เสียภาษีแค่ 59 ล้านบาท แต่ถ้าเสียภาษีรวมทีเดียว 12แปลง จะเสียภาษี581ล้านบาท  ไม่ใช่การวางแผนภาษี แต่เป็นการเลี่ยงภาษีให้รัฐเสียหาย การเลือกนายกฯครั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญ ขอให้เลือกคนซื่อสัตย์ มีจริยธรรม ได้ข่าวมาว่า จะมีการแจกกล้วยให้ สว. เป็นคนดีๆ ไม่ชอบ อยากเป็นลิงมากินกล้วย ผิดคำสาบาน ระวังจะโดนลงโทษ

นายวุฒิพันธ์  วิชัยรัตน์ สว. อภิปรายว่า ผ่านมา 100วัน รัฐสภายังไม่บรรลุการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ประเทศตกอยู่ในวังวน วังเวง ประชาชนเคว้งคว้าง ขอให้ สว.ทำหน้าที่พาประเทศออกจากวังวน ใช้สัมมาสติใช้วิจารณญาณเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ เพราะความล่าช้าการเลือกนายกฯคือต้นทุนที่สูงของประเทศที่ประเมินค่าไม่ได้ ต้องยุติความสูญเสียไม่ให้เรื้อรัง ความเนิ่นช้าการเลือกนายกฯ คือความรับผิดชอบ ร่วมกันของ สว.

ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า สส.ก้าวไกลไม่สามารถเห็นชอบนายเศรษฐาได้ ไม่ใช่เพราะไม่รู้จักนายเศรษฐา และไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติผู้ถูกเสนอชื่อ แต่ไม่สามารถโหวตเห็นชอบได้ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ขัดเจตจำนงประชาชนในการเลือกตั้งที่ต้องการยุติรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช. การตั้งรัฐบาลขณะนี้ไม่ใช่สลายขั้วความขัดแย้ง แต่ต่อลมหายใจระบบการเมือง คสช.ให้มีสืบไป การตั้งรัฐบาลพิเศษที่บอกว่าเป็นความจำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องกลืนเลือด แต่อยากให้คิดว่า มีราคาหรือต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่ายให้การตั้งรัฐบาลพิเศษ คือ 1.ความหวังประชาชนที่จะให้การเมืองเดินหน้าสู่อนาคต ไม่ใช่เดินกลับสู่อดีต 2.การใช้สิทธิเลือกตั้งพอเป็นพิธี แต่อำนาจไม่มีวันเป็นของประชาชนจริงๆ มีประชาชนเป็นไม้ประดับ ไม่ใช่เจ้าของอำนาจที่แท้จริง

นายชัยธวัช กล่าวว่า  3.ประชาชนสูญเสียความศรัทธาระบบรัฐสภา  ปัญหาความขัดแย้งการเมือง คือความขัดแย้งระหว่างอำนาจประชาชนกับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน ที่ยังหาทางออกไม่ได้ ทางออกจากความขัดแย้ง ไม่ใช่การสลายขั้วขัดแย้ง ตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง การเลือกตั้งที่ผ่านมาบ่งบอกสังคมเปลี่ยนไปแล้ว แต่อาจเปลี่ยนไม่มากพอ แม้ประชาชนจะข้องใจ แต่อย่าหันหลังให้การเมือง ต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงให้การเมืองเป็นประชาธิปไตย เป็นของประชาชนจริงๆ

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว. อภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดแก้รัฐธรรมนูญทันทีที่ประชุมครม.นัดแรก อยากถามว่า รัฐธรรมนูญปี 60มีปัญหาอะไรให้เร่งแก้ไข เป็นเพราะรัฐธรรมนูญนี้มีกลไกป้องกันนักการเมืองทุจริตเข้มงวด อาทิ ตัดสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต การให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ กลไกเหล่านี้ ทำให้พรรคเพื่อไทยที่มักมีปัญหาทุจริต คนสำคัญบางคนต้องหลบหนีคดี เพราะไม่มีอายุความ จำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศไทยมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นหากมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กลไกขจัดนักการเมืองทุจริตจะหายไป  สอดคล้องความต้องการบางพรรคการเมืองที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญหมวดสถาบัน การแย่งแยกราชอาณาจักร การทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่จะยิ่งสร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น เพราะการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างอำนาจองค์กรอิสระ ลบล้างความผิดให้นักการเมืองทุจริต เพิ่มประเด็นความขัดแย้งมากขึ้น จะกระทบความมั่นคงชาติร้ายแรงมากกว่าการแก้ มาตรา 112 ดังนั้นจะสนับสนุนนายกฯพรรคเพื่อไทยได้อย่างไร แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยจะเสียสัตย์ ให้ประเทศสงบ ยืนยันจะไม่เสนอแก้รัฐธรรมนูญทันที แต่จะเสนอในห้วงเหมาะสม เมื่อสังคมสงบสุข การเสียสัตย์ครั้งนี้จะได้รับคำสรรเสริญทำเพื่อประเทศ ถ้าทำเช่นนี้ จะสนับสนุนนายกฯเพื่อไทย

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังสังคมใหม่ อภิปรายว่า นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย มีความเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ข้อครหาเรื่องการเลี่ยงภาษีที่ดิน โดยการแยกโอนการซื้อขายที่ดินเป็นรายวัน รายบุคคล 12 คน 12วัน เพื่อภาษีที่ดิน 70 ล้านบาท ไม่ใช่ 580ล้านบาทนั้น เป็นระเบียบของกรมที่ดินในการเสียภาษีให้ทำได้ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ส่วนที่หลายคนบอกว่าไม่รู้จักนายเศรษฐานั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะตลอดการเลือกตั้ง แคนดิเดตนายกฯทุกพรรคได้แสดงวิสัยทัศน์มาตลอด จะไม่รู้จักได้อย่างไร พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเลือกตั้งจากรประชาชน 10ล้านเสียง ถือว่าผ่านการตรวจสอบจากประชาชนมาแล้ว จึงมีความเหมาะสมเป็นนายกฯ

นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. อภิปรายว่า สว.ควรใช้อำนาจเลือกนายกฯอย่างมีขอบเขต การให้ความเห็นชอบนายกฯวันนี้เห็นควรกลับคืนสู่หลักการทั่วไปคือ ให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร เพราะแคนดิเดตนายกฯ ที่ได้รับการเสนอชื่อไม่มีหลักคิดเป็นอันตราย ส่วนการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถือเป็นภยันอันตรายหรือไม่นั้น เห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเกือบทุกพรรคการเมือง การจะให้ครม.ทำประชามติในวันแรกการประชุมครม. ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะการทำประชามติและการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2ปี  ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เคารพผลการลงประชามติ แต่เพื่อความสบายใจของรัฐสภาและประชาชน ควรชี้แจงให้ชัดเจนเพื่อสร้างความสบายใจว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญนั้น ควรรับฟังความเห็นจากทุกพรรค สว. ผ่านการพูดคุยให้มากสุด และรูปแบบส.ส.ร.ที่จะเกิดขึ้น ต้องผ่านความเห็นจากสภาฯก่อน รวมถึงทบทวนระยะเวลาทำประชามติจะเป็นประโยชน์ ถ้าทำได้ก็จะให้ความเห็นชอบนายกฯตามเสียงข้างมาก.