นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งชาวอิสราเอลเรียกกันว่า “บีบี” กลับมารับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลอิสราเอล เป็นสมัยที่สาม เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ที่ผ่านมา หลังการอยู่ในวาระระหว่างปี 2539-2542 และ 2552-2564 โดยพรรคลิคุดของเนทันยาฮูและพันธมิตรขวาจัด ซึ่งมีพรรคที่มีแนวคิดสุดโต่งทางศาสนารวมอยู่ด้วย ร่วมกันครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด หลังการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565


ทั้งนี้ เนทันยาฮูประกาศว่า การยุติ “ความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอล” ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ของรัฐบาลอิสราเอลชุดใหม่ เช่นเดียวกับ “การหยุดยั้งโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน” ซึ่งในความเป็นจริงคือการสานต่อหนึ่งในนโยบายสายเหยี่ยวของเนทันยาฮูตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน และการยกระดับขีดความสามารถทางทหาร ให้แก่กองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ)


ชัยชนะและการกลับคืนสู่อำนาจสูงสุดทางการเมืองอีกครั้งของเนทันยาฮู ได้รับการวิเคราะห์และคาดหมายจากหลายฝ่ายว่า จะเป็นการฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเมืองให้กลับคืนสู่อิสราเอลอีกครั้ง หลังต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไป 5 ครั้ง ภายในระยะเวลาไม่ถึง 4 ปี เนื่องจากในคราวนี้ พรรคลิคุดและพันธมิตรครองเสียงข้างมากเด็ดขาด


การกลับมาในรอบนี้ ที่เนทันยาฮูนำพรรคลิคุดจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคขวาจัดขนาดเล็ก สร้างความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่ายเช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็นความขัดแย้งกับปาเลสไตน์ จากการที่หนึ่งในแนวทางปฏิบัติด้านนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ระบุว่า หนึ่งในวาระสำคัญคือ การเดินหน้าและพัฒนาโครงการนิคมที่อยู่อาศัยของชาวยิว “บนดินแดนที่เป็นของอิสราเอล” รวมถึง “ยูเดียและสะมาเรีย” ซึ่งเป็นชื่อของเขตเวสต์แบงก์ ตามที่ระบุอยู่ในพระคัมภีร์


นับตั้งแต่อิสราเอลยึดครองพื้นที่ดังกล่าว ร่วมกับฉนวนกาซา และฝั่งตะวันออกของนครเยรูซาเลม หลังชนะสงครามหกวัน เมื่อปี 2510 รัฐบาลเทลอาวีฟทุกสมัยสานต่อแผนการขยายอาณาเขตนิคมชาวยิว ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีชาวอิสราเอลอาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนนี้ประมาณ 500,000 คน ตรงข้ามกับชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ราว 2.5 ล้านคน ซึ่งต้องดำเนินชีวิตภายใต้การควบคุมโดยหน่วยงานด้านความมั่นคงของอิสราเอล


การดำเนินนโยบายของรัฐบาลเนทันยาฮูตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่า คือการใช้การทูตกดดัน ไม่ให้ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ เดินหน้าการสถาปนารัฐปาเลสไตน์ ด้วยการตีกรอบให้รัฐบาลปาเลสไตน์มีขอบเขตอยู่เฉพาะในเขตเวสต์แบงก์


อย่างไรก็ตาม วิธีการเช่นนี้กลับกลายเป็นการเพิ่มอิทธิพลให้กับกลุ่มฮามาส สู่การเป็นองค์กรมีอิทธิพลทางการเมืองโดยปริยาย ที่อิสราเอลต้องยอมเจรจาด้วยหลายต่อหลายครั้ง โดยมีอียิปต์ทำหน้าที่คนกลาง ในเวลาเดียวกัน การที่อิสราเอลยังคงสร้างแรงกดดันให้กับฉนวนกาซาต่อเนื่อง กลับกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ที่ทำร้ายอิสราเอล.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES