เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 9 ต.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม พิจารณาวาระเรื่องด่วน การขอออกหมายเรียก สว. สอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125

โดยนายศุภชัย กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีหนังสือมายังวุฒิสภา ขออนุญาตออกหมายเรียกตัวนายอุปกิต ปาจรียางกูล สว. ไปสอบสวน และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตาม มาตรา 11/7 พ.ร.บ.วิธีพิจารณายาเสพติด พ.ศ. 2550 ในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา มาตรา 127 แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ระบุว่า ระหว่างสมัยประชุมห้ามจับคุมขัง หรือหมายเรียกตัว สส. หรือ สว. ไปสอบสวน ในฐานะเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับขณะกระทำความผิด การที่ ตร. มีหนังสือมายังวุฒิสภา เพื่อออกหมายเรียกตัวนายอุปกิตไปสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาระหว่างสมัยประชุม จำเป็นต้องเป็นมติที่ประชุมวุฒิสภา ตามมาตรา 125 ก่อน

จากนั้นนายอุปกิต ชี้แจงว่า ขอบคุณที่ประชุมวุฒิสภาให้ชี้แจงข้อเท็จจริง เนื่องจากถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ได้รับความทุกข์ทรมานมากว่า 1 ปี ขอยืนยันความบริสุทธิ์ ก่อนเป็น สว. ในปี 2562 ได้ออกจากกรรมการหุ้นส่วน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป ที่ผ่านมาเกือบ 15 ปี ตนเป็นตัวแทนซื้อขายไฟระหว่างไทยกับเมียนมา ที่ด่านท่าขี้เหล็ก ไม่เคยมีปัญหาแม้แต่ครั้งเดียว เนื่องจากขออนุมัตินำเงินสดออกไปทำแคชเชียร์เช็คที่ธนาคาร และนำไปจ่ายที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แต่ปัญหาเกิดขึ้นปี 2563-2565 ที่ด่านปิดจากสถานการณ์โควิด-19 นายทุน มิน ลัต นักธุรกิจเมียนมา เข้ามาทำธุรกิจไฟฟ้าต่อจากตน ช่วงที่ชายแดนไทย-เมียนมา ปิด มีความจำเป็นต้องชำระเงินผ่าน Money changer (MC) ที่เป็นวิธีเดียวที่สามารถโอนเงินตามปกติของการค้าชายแดน การโอนเงินผ่าน MC นายทุน มิน ลัต เอาเงินไปให้ MC ฝั่งเมียนมาโดยที่เงินไม่ได้รับการโอนมาจริงๆ MC คนดังกล่าวได้หาบัญชีต่างๆ ของบุคคลที่ต้องการรับเงินในฝั่งเมียนมา และสั่งให้โอนเงินต่อไปยังจุดมุ่งหมายของผู้ที่จะโอน กรณีนี้คือโอนไปที่ กฟภ. เมื่อพนักงานสืบสวนนครบาลเห็นเส้นทางการชำระค่าไฟฟ้า ก็กล่าวหาเป็นบัญชียาเสพติด ด่วนสรุปการกระทำความผิด เป็นเพียงเรื่องโอนเงินชำระค่าไฟตามบิลของ กฟภ. มูลค่าที่มาจากบัญชีที่ไม่ดีเป็นเพียง 2–3% ของมูลค่าการซื้อขายไฟ 

นายอุปกิต กล่าวว่า ทราบว่าก่อนหน้านี้พนักงานสืบสวนได้เรียกบริษัทที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกันคือ การนำน้ำมันไปขายฝั่งเมียนมา มาถามว่าได้รับเงินค่าอะไร เขาตอบว่าได้รับเงินค่าน้ำมัน โดยเอาใบเสร็จที่ไม่ได้มาตรฐาน บอกพนักงานสืบสวนว่า รับเงินมาจากลุงคำ ไม่ทราบนามสกุล ทำให้พนักสืบสวนเลือกดำเนินคดีกับบริษัทที่เคยเกี่ยวข้องกับตน จากเอกสารโจทก์ในคดีนายทุน มิน ลัต มีมากกว่า 112 บริษัท และบุคคลอีกจำนวนมากที่รับเงินจากบัญชีที่ตำรวจกล่าวหาว่าเป็นบัญชียาเสพติด ไม่มีใครที่จะเอาค่าไฟฟ้าที่ถูกกฎหมายไปฟอกผ่าน MC ให้เป็นเงินผิดกฎหมาย หลังจากที่บุคคลในเครือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับตนถูกจับกุมตัว ผู้ว่าฯ ทั้งสองประเทศได้คุย และตัดสินใจว่าจะดำเนินธุรกิจไฟต่อ ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน จึงให้ฝั่งเมียนมาเป็นผู้รับผิดชอบโอนเงิน การไฟฟ้าของเมียนมาได้โอนเงินผ่าน MC คนเดิม วิธีเดิม ทุกอย่างในช่วงที่ด่านปิด ทำให้เห็นได้ชัดว่าการโอนเงินแบบนี้คือเรื่องปกติ แต่ที่ผิดปกติคือบริษัทในเครือที่เคยเกี่ยวข้องกับตน ถูกดำเนินคดีเพียงบริษัทเดียว ต้องการชี้ให้เห็นว่า การโอนเงินผ่าน MC เป็นปกติวิสัยของการทำธุรกิจค้าขายชายแดน

นายอุปกิต กล่าวว่า ส่วนกรณีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เคยอภิปรายตนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ กล่าวหาตนเป็น “สว.ทรงเอ” ปรักปรำพัวพันขบวนการค้ายาเสพติด เอาหลักฐานเท็จจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนส่งมาให้มาอภิปรายตน อาทิ แชตบบทสนทนาการพูดคุยระหว่างตนกับนายทุน มิน ลัต ที่มีการบิดเบือนบทสนทนาเรื่องการทำธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าเป็นเท็จ กล่าวหาบริษัทของตนรับโอนเงินจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งที่มีอีก 112 บริษัท ที่มีการรับโอนเงินจากบริษัทที่ถูกกล่าวหาเรื่องยาเสพติด แต่ 112 บริษัทเหล่านี้ไม่ถูกดำเนินคดี ยืนยันไม่เคยเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ไม่มีอะไรมาเชื่อมโยงถึงตน ส่วนการออกหมายจับตนต่อศาลก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการบอกว่า ขอออกหมายจับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การปล่อยให้ตำรวจออกหมายจับตามอำเภอใจอาจกลั่นแกล้งกันได้ ในที่สุดศาลจึงยกเลิกหมายจับ ขณะนี้ตนฟ้องนายรังสิมันต์ โรม ข้อหาหมิ่นประมาท 2 คดี โดยคดีแรกศาลประทับรับฟ้องแล้ว เรื่องนี้เป็นทฤษฎีสมคบคิดของตำรวจบางคนที่มีภริยาเป็นผู้สมัคร สส. พรรคการเมืองหนึ่งในขณะนั้น และปัจจุบันเป็น สส.กทม. พรรคการเมืองหนึ่ง ทำงานเป็นกระบวนการ ให้นายรังสิมันต์อภิปรายโจมตีตน เพื่อหวังผลประโยชน์การเมือง ให้ สว. แปดเปื้อน โยงไปถึงอดีตนายกฯ ที่มีส่วนสรรหา สว. เล่นการเมืองสกปรก อ้างเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ยังใช้วิธีสกปรกมาก เอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น  

“ผมอยากชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง ทั้งกระบวนการออกหมายจับ ขั้นตอนในชั้นอัยการ ผิดจากธรรมเนียมปฏิบัติ ผมมาจากตระกูลที่รับใช้แผ่นดินมา 3 ชั่วอายุคน บิดาผมเป็นอดีตทูต 6 ประเทศ ผมและครอบครัวตระหนักถึงบุญคุณแผ่นดิน ไม่มีวันทำอะไรเลวร้ายตามที่ถูกกล่าวหา และถึงแม้ตนจะประกาศสละสิทธิไม่ขอรับเอกสิทธิคุ้มครอง เรื่องการขออนุญาตจากที่ประชุมวุฒิสภาให้ส่งตัวไปดำเนินคดี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องได้รับการอนุญาตจากที่ประชุมวุฒิสภา ผมแสดงเจตนาพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องรอปิดสมัยประชุมวันที่ 30 ต.ค. นี้ เพราะไม่ประสงค์ให้ใครเอาไปเป็นประเด็นวิจารณ์วุฒิสภา ขอกราบเรียนประธานและสมาชิกทุกคนว่า ผมพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ผมยังมีความเชื่อมั่นอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องขอความคุ้มครองใดๆ” นายอุปกิต กล่าวด้วยน้ำเสียงสะอื้น

ผู้สื่อข่าวรายงานงาน จากนั้นที่ประชุมเปิดโอกาสให้ สว. อภิปรายแสดงความคิดเห็น โดย สว. ที่อภิปรายที่ไม่เห็นชอบให้นำตัวนายอุปกิตไปดำเนินคดี เนื่องจากหลักการ มาตรา 125 มุ่งให้ความคุ้มครองสมาชิกฐานะตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่เป็นประเด็นเอกสิทธิ์ อาทิ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม นายจัตุรงค์ เสริมสุข นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร

ขณะที่ สว. บางส่วนอภิปรายสนับสนุนให้ สว. ลงมติเห็นชอบ เพื่อเคารพหลักการของรัฐธรรมนูญ พร้อมยกตัวอย่างที่ผ่านมา ในช่วงการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 พบว่ามี 2 สว. ถูกขอหมายไปดำเนินคดีระหว่างสมัยประชุม ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวกับการฆาตกรรมภรรยาตนเอง และเรื่องโอนเงินสหกรณ์ เป็นต้น โดย สว. ที่เห็นให้นำตัวไป อาทิ นายอนุสิษฐ คุณากร  

หลังจากแล้วเสร็จกการอภิปราย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานในที่ประชุม ประกาศให้ลงคะแนน โดยเกณฑ์การออกเสียงจะยึดเสียงข้างมากเป็นประมาณ และผลการลงมติพบว่า เสียงข้างมาก 174 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการออกหมายเรียกตัวนายอุปกิตไปสอบสวนฐานะผู้ต้องหาคดีอาญาระหว่างสมัยประชุม ต่อ 7 เสียง และมี สว. ที่งดออกเสียง 10 เสียง.