นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวถึงกรณีศาลปกครองฯ พิพากษาสั่งเพิกถอนประกาศ ตร.ใบสั่ง-ค่าปรับ ย้อนหลังถึงปี 2563 ว่า เจตนาของเรื่องนี้จริงๆ แล้วต้องการให้คนกลัวที่จะเสียเงินค่าปรับ ทำให้ไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย และผลท้ายที่สุดแล้วลดการเกิดอุบัติเหตุ โดยเป้าหมายสูงสุดคือไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งใบสั่งปี 2563 เชื่อว่าจะสามารถนำมาปรับปรุงในจุดที่มีความบกพร่องได้ แต่ไม่ได้แปลว่าจะเลิกระบบนี้ ทั้งนี้หลังการบังคับใช้เรื่องการไม่เสียค่าปรับใบสั่งมีผลต่อการต่อใบอนุญาตขับขี่ พบว่าการทำผิดกฎหมายจราจรลดลง จากการติดตามยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่อเนื่องมายาวนาน 20 ปี พบว่าหลังมีการเชื่อมข้อมูลผู้กระทำความผิดกับระบบของขนส่งที่จะส่งผลให้ต่อภาษีรถประจำปีไม่ได้ทำให้พบว่าในระยะ5 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ย.2566 กราฟผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงทุกเดือน  ซึ่งเป็นผลจากความเข้มงวดในมาตรการดังกล่าว

“เป็นไปได้อยากหารือกับผู้ฟ้องเรื่องนี้ เพื่อให้เข้าใจเจตนาใหญ่ของการลดการเกิดอุบัติเหตุ ที่ผ่านมาในฐานะแพทย์ที่ยืนผ่าตัดมาตลอด อยากให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปในเรื่องอื่นที่มีความสำคัญ ไม่ใช่รักษาแต่คนที่บาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุ ที่เป็นเรื่องที่ป้องกันไม่ให้เกิดได้ ทั้งนี้อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ใช่เฉพาะตำรวจ เร่งหารือกันในเร็ววันนี้ หาทางออกคุยกันโดยมีเจตนาเดียวว่าให้ลดอุบัติเหตุให้ได้ ขณะที่คนถือใบสั่งอย่าเพิ่งเฮไป ขอให้ไปชำระค่าปรับ แล้วขับรถให้ดี คิดว่าสักวันหากขับรถดีขึ้นจะได้ไม่ทำบาป เพราะความผิดยังคงอยู่” นพ.อนุชา กล่าว

นพ.อนุชา กล่าวอีกว่าสังคมต้องช่วยกันคุยกับศาลปกครอง จะให้แก้อะไรก็บอกมา ให้เหมือนกับนานาประเทศ เรื่องนี้เกิดกับตนเมื่อ 20 ปี ที่แล้วเดินทางไปประเทศอังกฤษ ได้เช่ารถขับและปรากฎว่าถูกจับความเร็ว ทำให้ถูกตัดบัตรเครดิตเพื่อเสียค่าปรับไปก่อน และหากเรามีข้อโต้แย้งสามารถชี้แจงได้ แต่หากชี้แจงแล้วไม่เพียงพอจะถูกปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งวิธีนี้ทำให้ประเทศเขาลดอุบัติเหตุได้ ปัจจุบันที่อังกฤษมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละประมาณ 1,000 คน แต่บ้านเรายังมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20,000 คนต่อปี ทั้งนี้การจ่ายค่าปรับมีจิตวิทยาย่อนกลับว่าต่อไปคนจะไม่กล้าฝ่าไฟแดง ไม่กล้าย้อนศร ไม่กล้าขับรถเร็ว สิ่งที่ปรากฏในหลายๆประเทศตรงกับบงานวิจัยในหลายๆประเทศมาตราการเหล่านี้ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรื่องดังกล่าวศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2443/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1855/2563 ซึ่งเป็นคดีที่ นางสุภา โชติงาม ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ในฐานะผู้ฟ้องคดี ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กับผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยศาลปกครองฯ ให้เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าวซึ่งจากประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

ทั้งนี้รูปแบบใบสั่งที่กำหนดขึ้นใหม่ตาม ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ได้ตัดสาระสำคัญในส่วนของการปฏิเสธการกระทำความผิดตามใบสั่ง บันทึกของผู้ต้องหา และบันทึกของพนักงานสอบสวน กำหนดไว้เพียงวิธีการชำระค่าปรับด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมทำให้ผู้รับใบสั่งเข้าใจว่า ตนมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับเท่านั้น ซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานที่สำคัญทางอาญา และขัดต่อมาตรา 26 และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญฯ  จึงเป็นการออกกฎที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้งคัดค้าน อีกทั้งทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการพิจารณาโทษตามข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แห่งการกระทำ