เมื่อวันที่ 18 ต.ค. เวลา 15.10 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล และการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล ว่า เมื่อคืนวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญ คือการโจมตีโรงพยาบาลอัล-อาห์ลี อัล-อาราบี บริเวณฉนวนกาซา ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายด้านสิทธิมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างรุนแรง เพราะในยามสงครามจะไม่มีการโจมตีโรงพยาบาล โรงเรียน และพลเรือน ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของไทยขอแสดงความเสียใจอย่างใหญ่หลวง สำหรับสถานการณ์ภาพรวมในอิสราเอลนั้น รัฐบาลอิสราเอลประกาศว่าอาจบุกโจมตีทางบก ขณะที่มีหลายฝ่ายพยายามเจรจาอยู่ อาทิ กรณีนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางเยือนอิสราเอลในวันนี้ (18 ต.ค.)

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวอีกว่า สำหรับภารกิจการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลยังมีอย่างต่อเนื่อง จำนวนคนไทยที่เสียชีวิต เพิ่ม 1 ราย ทำให้มียอดรวมเป็น 30 ราย ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บยังมี 16 ราย ผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันยังอยู่ที่ 17 ราย สถิตการอพยพคนไทยจากอิสราเอลกลับถึงไทยแล้วในวันนี้ รวม 7 เที่ยวบิน มีจำนวน 926 คน และมีผู้ที่เดินทางมาเองอีกจำนวนหนึ่ง ยอดรวมผู้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศขณะนี้มี 8,160 คน ผู้ที่ยังไม่ขอกลับประเทศ 110 คน อย่างไรก็ตาม หากมีคนไทยในอิสราเอลที่แม้ไม่ได้ลงทะเบียนดังกล่าว แต่ต้องการกลับประเทศไทย สามารถเดินทางมาแจ้งที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้เช่นกัน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้จัดโรงแรมไว้เป็นศูนย์พักพิงแก่คนไทย เพื่อเตรียมพร้อมขึ้นเครื่องบินกลับประเทศ รวม 7 แห่ง มีผู้เข้าพักแล้ว 593 คน ส่วนการอพยพคนไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยใกล้ฉนวนกาซา ขณะนี้ได้ออกมาเกือบหมดแล้ว อาจมีติดอยู่บ้าง เราก็ได้ติดตามทุกช่องทาง หากใครมีการส่งข้อความขอความช่วยเหลือเข้ามา ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ จะเร่งเข้าไปช่วยเหลือทุกกรณี

นางกาญจนา กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ เครื่องบินของกองทัพอากาศได้เดินทางไปยังอิสราเอล เพื่อนำสิ่งของจำเป็นที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน อาทิ อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค ไปช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล พร้อมกับจะรับคนไทยจากอิสราเอล 145 คน กลับมาเมืองไทยด้วย โดยเครื่องบินลำนี้จะเดินทางจากอิสราเอลในวันนี้ เวลาประมาณ 22.00 น. และจะมาถึงประเทศไทยในวันที่ 19 ต.ค. เวลา 13.40 น. อีกทั้งยังมีคนไทยอีก 80 คน เดินทางโดยสายการบินอิสราเอล แอร์ไลน์ ออกจากอิสราเอลในคืนนี้ และจะมาถึงไทยในวันที่ 19 ต.ค. เช่นกัน ทั้งนี้ ขอย้ำว่าทางการไทยพยายามจัดเที่ยวบินเพื่อรับคนไทยกลับประเทศทุกวัน และยังตั้งเป้าหมายที่จะพาคนไทยกลับบ้านให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 คน

นางกาญจนา กล่าวว่า นอกจากนี้ เรามีแผนจะลำเลียงคนไทยขึ้นเครื่องบินจากอิสราเอลไปพักรอในประเทศที่สาม คือนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งวิธีนี้จะใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงเศษ สำหรับสาเหตุที่ต้องไปนครดูไบ เป็นเพราะเราจะจ้างเหมาลำเครื่องบินขนาดใหญ่ที่บรรจุคนได้เป็นจำนวนมาก บินออกจากกรุงเทลอาวีฟไปนครดูไบ ขณะเดียวกัน เที่ยวบินที่จากกรุงเทพฯ ไปยังนครดูไบ มีหลายสายการบินแล้ว ตั้งแต่เครื่องบินกองทัพอากาศ เครื่องบินของสายการบินไทย สายการบินแอร์เอเชีย นกแอร์ และไลอ้อนแอร์ สำหรับแผนนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. นี้ ทั้งนี้ คนไทยที่จะมานครดูไบนั้น ต้องมีวีซ่าเข้ายูเออี ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูดาบี และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครดูไบ ได้ประสานงานกับทางการท้องถิ่น โรงแรม และท่าอากาศยานของที่นั่นแล้ว สำหรับการดำเนินการเรื่องนี้ โดยแผนการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.

นางกาญจนา กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการวิจารณ์และข้อสงสัยเรื่องเส้นทางการบินของเครื่องบินของกองทัพอากาศที่อ้อมผ่านหลายประเทศ ทำให้เสียเวลา 3-4 ชั่วโมง ผิดกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้เวลาน้อยกว่านั้น ตนขอทำความเข้าใจว่าเราไม่ได้ขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าของประเทศที่เราเห็นว่าจะมีความเสี่ยงว่าอาจไม่ได้รับอนุญาต หรืออาจใช้เวลานานในการพิจารณาคำขออนุญาต เราจึงคิดว่าการเสียเวลาบินอ้อม 3-4 ชั่วโมง ดีกว่าการที่เราขออนุญาตประเทศที่ปกติไม่เคยเปิดให้บินผ่านไปยังอิสราเอล ส่วนการที่เราต้องขออนุญาตหลายประเทศในครั้งนี้ เป็นการขอกรณีพิเศษ เราจึงเลือกขอประเทศที่อนุญาตแน่นอนดีกว่า

“เราไม่ได้ขอ เพราะอยากให้มันเร็ว เราไม่อยากเสี่ยงเพราะความล่าช้า บางคนอาจจะบอกว่าประเทศอื่นยังบินได้ ก็แล้วแต่ บางประเทศก็มีความตกลงกัน และความจริงถ้าเราขออนุญาต ในห้วงภาวะสงคราม สถานการณ์มนุษยธรรม เราอาจจะได้ก็ได้ แต่เราไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากรอ ดังนั้นนักบินบินอ้อม 3-4 ชั่วโมง ไม่ได้เป็นประเด็น” นางกาญจนา  กล่าว

นางกาญจนา ยังกล่าวถึงประชาชนบางส่วนที่ยังเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ว่าขอให้ติดตามมาตรการต่างๆ ของท้องถิ่นว่าเตือนอย่างไร ทั้งระดับความปลอดภัย และการแจ้งเตือนเรื่องการก่อการร้าย ขอให้ติดตามเฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศต่างๆ นอกจากนี้ เราได้รับทราบว่ายังมีคนเดินทางไปยังนครเยรูซาเลมของอิสราเอลด้วย ซึ่งในสภาวะเช่นนี้พื้นที่ดังกล่าว มีความเสี่ยงว่าไม่ปลอดภัย จึงขอให้พิจารณางดเว้นไว้ก่อน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเจรจาเพื่อปล่อยตัวประกันมีความคืบหน้าอย่างไร นางกาญจนา กล่าวว่า เราพยายามในทุกทาง ซึ่งมีสัญญาณบวก ที่ระบุว่าตัวประกันของไทยน่าจะยังปลอดภัยอยู่ และขณะนี้ยังไม่มีกรณีการจะสังหารตัวประกันเพื่อต่อรองแต่อย่างใด ในชั้นนี้จึงขอให้ญาติพี่น้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป ส่วนคาดว่าจะมีการปล่อยตัวเร็วๆ นี้หรือไม่นั้น นางกาญจนา กล่าวว่า คาดเดาได้ยากมาก ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะเมื่อวานที่มีการโจมตีโรงพยาบาล ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีกมาก จากเดิมที่จะมีการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐและผู้นำชาติอื่นๆ ในภูมิภาค ก็ต้องยกเลิกไป จึงต้องติดตามกันต่อไป

“ขอย้ำว่าทุกประเทศที่รวมถึงไทย มีการเจรจากับทุกฝ่ายในเรื่องการปล่อยตัวประกัน เพราะเราอยากให้ทุกคนได้กลับมาสู่อ้อมอกพ่อแม่ แต่อาจไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้มาก แต่สิ่งที่น่ากังวล คือมีผู้รู้และนักวิเคราะห์จำนวนมากออกมาวิเคราะห์ในแง่ต่างๆ เราจึงขอให้พวกท่านนึกถึงใจของญาติพี่น้อง หากมีการพูดโดยอ้างอิงข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน อาจทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ซึ่งกระทรวงฯ พยายามหลีกเลี่ยงจะเผยแพร่ข้อมูลที่ยังเป็นการสันนิษฐาน หรือยังไม่ได้มีการยืนยัน” นางกาญจนา กล่าว