จากกรณี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. มีหนังสือบันทึกเรื่อง แนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และได้กำหนดให้กฎหมายในบัญชี 1 และบัญชี 3 ท้าย พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 ต.ค. 66 ซึ่งคำสั่งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะเรื่องใบสั่งจราจรนั้น

ทำความรู้จัก ‘พ.ร.บ.ค่าปรับเป็นพินัย’ คืออะไร? หากกระทำความผิดแล้วจะต้องทำอย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองโฆษกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงหลักการสำคัญของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ว่า มาจากเดิมกฎหมายได้กำหนดโทษทางอาญา กรณีผู้กระทำความผิดต้องถูกลงโทษปรับ แต่หากผู้กระทำผิดนั้น “ไม่” สามารถชำระค่าปรับได้ ก็จะถูกนำตัวไป “กักขัง” แทนค่าปรับ แต่การเรียงลำดับความร้ายแรงของโทษทางอาญานั้น ไล่เรียงตั้งแต่หนักสุดคือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ยึดทรัพย์


ดังนั้น การที่มีผู้กระทำผิดไม่มีเงินค่าปรับกลับต้องถูกกักขังทั้งที่เป็นโทษที่รุนแรงกว่า เป็นการถูกจำกัดด้วย “ฐานะ” หากมีเงินก็ไม่ต้องเข้าคุก จึงมีแนวคิดว่าหาก “โทษปรับสถานเดียว” เปลี่ยนให้ไปทำอย่างอื่นแทนตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ที่กําหนดให้การตรากฎหมายพึงกําหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดที่ร้ายแรง


พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ จึงใช้บังคับ เพื่อเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาและโทษปรับทางปกครองมาเป็น “โทษปรับเป็นพินัย” ความหมายคือ เงินค่าปรับเป็นพินัยที่ต้องชำระให้แก่รัฐ ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ในมาตรา 3 ความผิดทางพินัย คือการกระทำ หรืองดเว้นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย


ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปรับและอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ นั้น เป็นไปตามบัญชีท้ายของ พ.ร.บ. ซึ่งมี 3 บัญชี รวม 204 ฉบับ การปรับเป็นพินัยมีหลักการสำคัญคือ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่บังคับใช้กฎหมายแต่ละฉบับนั้นมีอำนาจหน้าที่ในการ “ออกคำสั่งปรับเป็นพินัย” แบ่งเป็น 2ระดับ คือ ถ้าจำนวนเงินที่จะต้องสั่งปรับไม่เกิน 10,000 บาท ให้เจ้าหน้าที่ 1 คน สามารถออกคำสั่งได้ แต่ถ้าปรับเกิน 10,000 บาท จะต้องทำในรูปของคณะกรรมการไม่เกิน 2 คน และจำนวนเงินค่าปรับให้เป็นไปตามที่กฎหมายฉบับนั้นๆ บัญญัติไว้


อย่างไรก็ตาม จากหลักการเดิมหากไม่มีเงินเสียค่าปรับจะถูกกักขังแทนนั้น พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ได้เปลี่ยนรูปแบบใหม่ ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกศาลสั่งปรับ เป็นบุคคลยากจน ทุกขเวทนา มีเหตุจำเป็นให้ต้องละเมิด สามารถยื่นคำร้องต่อศาล “ขอลดค่าปรับ” หรือขอผ่อนชำระเป็นงวดๆ


หาก “ไม่มีเงินเลย” ก็สามารถขอศาลอนุญาตให้ผู้กระทำผิด “ขอทำงานบริการสังคม” หรือ “ทำงานสาธารณประโยชน์” แทนค่าปรับเป็นพินัยก็ได้ โดยศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุญาตตามคำร้องหรือไม่ “ไม่ใช่ว่าทุกคนจะใช้แรงงานแทนค่าปรับได้เพราะมีเงื่อนไข”


ถ้าผู้กระทำผิดไม่ได้ขอศาลผ่อนชำระ หรือขอทำงานบริการแทนค่าปรับเป็นพินัยแล้วชำระไม่ทันเวลาที่ศาลกำหนด ให้ศาลออก “หมายบังคับคดี” เพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้น เพื่อชำระค่าปรับเป็นพินัยได้ ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้ “ห้าม” ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบันทึกลงใน “ประวัติอาชญากรรม” กับผู้กระความผิดทางพินัย

“กฎหมายฉบับนี้มอบโอกาสให้คนที่มีความจำเป็นต้องทำ แต่ไปละเมิดกฎหมายแล้วฐานะยากจน ก็ยังสามารถขอใช้แรงงานแทน ก็จะทำให้คำพูดที่บอกว่า คุกตะรางมีไว้เพื่อขังคนจนเท่านั้น ได้รับการขจัดออกไป” นายวีรศักดิ์ กล่าว.