นับตั้งแต่เปิดเส้นทางสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์แห่งเทือกเขาหิมาลัยเมื่อ 2 ศตวรรษที่แล้ว มีคนมากกว่า 300 คนที่เสียชีวิตระหว่างการปีนสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ และมีไม่กี่ศพที่สามารถนำกลับลงสู่พื้นราบได้ จึงยังคงมีร่างผู้ตายหลายร้อยร่างที่ค้างคาอยู่บนเทือกเขาที่สูงที่สุดในโลก

โดยเฉลี่ยแล้ว ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตในการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ราว 6 คน กระนั้นในปี 2558 สถิติผู้เสียชีวิตก็พุ่งสูงถึง 19 คน เนื่องจากมีอุบัติเหตุหิมะถล่ม

แต่สถิติในปี 2566 นี้ก็ใช่ว่าจะน้อยหน้า นักปีนเขาที่ทิ้งชีวิตไว้ระหว่างทางในขอบเขตของหิมาลัยในปีนี้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 12 คน ไม่รวมนักปีนเขาที่สูญหายและคาดว่าไม่น่ารอดชีวิตได้อีก 5 คน 

ปี 2566 นี้ยังนับว่าเป็นปีที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวปีนเขามากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏ ตามจำนวนใบอนุญาตปีนเขาที่ทางการเนปาลออกให้ไปแล้วถึง 463 ฉบับ ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับจำนวนของไกด์เชอร์ปาผู้นำทางแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าจะมีกลุ่มคนที่มุ่งหน้าสู่เทือกเขาหิมาลัยทางด้านใต้และยอดเขาเอเวอเรสต์ถึง 900 คนโดยประมาณ ในระยะเวลาเพียง 2 เดือนที่เส้นทางเปิดให้ปีนได้ระหว่างเดือนเม.ย.-พ.ค. 

เมื่อมีคนตายบนเอเวอเรสต์ การจะนำศพกลับลงมานั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายสูงเป็นจำนวนหลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐ (ในบางกรณีนั้นต้องจ่ายถึง 70,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2.5 ล้านบาท) อีกทั้งทีมงานที่นำศพลงมาก็ต้องเสี่ยงชีวิตอย่างมาก และเคยมีคนตายเพราะพยายามนำศพลงมาจากยอดเขามาแล้วในปี 2527

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์อยู่ระหว่าง 50,000-130,000 ดอลลาร์สหรัฐ (1.7-4.5 ล้านบาท) หรือสูงกว่านั้น แล้วยังไม่แน่ว่าจะไปได้ถึงยอดเขาหรือเปล่าอีกด้วย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถนับจำนวนที่แน่นอนของผู้เสียชีวิตระหว่างทางสู่ยอดเขาแห่งนี้ได้ รวมถึงไม่อาจชี้ชัดไปได้ว่ามีศพตกค้างอยู่ที่จุดใดบ้าง

จากความพยายามประเมินจำนวนผู้ตายครั้งล่าสุด คาดว่าอาจถึง 322 ศพ โดยมีนักปีนเขาหลายรายแสดงความเห็นว่าการที่มีคนตายเพิ่มมากขึ้นนั้นเป็นเพราะไม่มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องการปีนเขา

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น กลุ่มนักปีนเขารุ่นใหม่ ๆ ที่ต้องการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์แบบเร่งรัด จนยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อความสำเร็จ รวมถึงสภาพ “การจราจรแออัด” ของเหล่านักท่องเที่ยวที่กระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่ใน “เขตมรณะ” จุดผ่านระดับความสูง 8,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลซึ่งมีอากาศเบาบางจนคนส่วนใหญ่ต้องอาศัยหน้ากากออกซิเจนเพื่อช่วยหายใจ บางคนเริ่มเห็นภาพหลอน มีอาการป่วยเพราะร่างกายปรับตัวไม่ทันที่ระดับความสูงขนาดนี้ และบางคนก็ไม่รอดกลับลงไปสู่เบื้องล่าง

การนำศพลงจากเขตมรณะนับว่าเป็นงานที่เสี่ยงชีวิตอย่างมาก เพราะสภาพแวดล้อมมีแต่หิมะและความหนาวเหน็บระดับต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ส่วนใหญ่แล้วจะต้องขุดศพออกจากหิมะที่เกาะติดแน่นเสียก่อน และศพคนปกติที่มีน้ำหนักราว 80 กก. อาจจะมีน้ำหนักเพิ่มถึง 150 กก. หลังจากที่ศพแข็งตัวและมีน้ำแข็งติดมาด้วย

นักปีนเขาบางรายเล่าว่าเขาต้องเซ็นเอกสารเรื่องการจัดการศพเสียก่อนขึ้นเขา ว่าต้องการให้นำศพลงมาหรือทิ้งไว้บนยอดเขา และเมื่อนำลงมาแล้ว ต้องการให้ทำพิธีศพที่เนปาลเลย หรือต้องการให้ส่งศพกลับประเทศบ้านเกิด

แต่โดยปกติแล้ว ชาวเชอร์ปาซึ่งยึดอาชีพไกด์นำทางในแถบหิมาลัยเชื่อว่า การทิ้งร่างคนตายไว้บนภูเขานั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เป็นการไม่เคารพสถานที่และเทพเจ้าที่ดูแลภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาแห่งนี้ 

ในปี 2562 กลุ่มชาวเนปาลที่ขึ้นไปเก็บขยะบนยอดเขา ต้องขนศพนักปีนเขาลงมาไม่ต่ำกว่า 4 ศพ และเมื่อพิจารณากลุ่มนักท่องเที่ยวในรูปแบบของนักปีนเขาที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี จนทำให้เอเวอเรสต์แน่นขนัดไปด้วยผู้คน ก็เป็นไปได้ว่า จำนวนร่างของผู้ที่เอาชีวิตไปทิ้งระหว่างทางนั้น มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นในปีถัด ๆ ไป

ที่มา : businessinsider.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES