เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีหนังสือสั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยในส่วนของกระทรวงแรงงาน ที่จะมีระบบคณะกรรมการค่าจ้าง 3 ฝ่าย ประกอบด้วยรัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง (ไตรภาคี) พิจารณาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำอยู่ ว่า เรื่องนี้ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานอย่างชัดเจน ซึ่งจริงๆ ก็มีการแทรกแซงมาตลอดอยู่แล้ว แทรกแซงตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีฯ ไม่ควรที่จะออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่า ไม่สามารถเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ได้ทุกพื้นที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้ามาพูดกันด้วยเรื่องเหตุผล ตอนนี้รัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น แต่หากไม่เติมกำลังซื้อของคนแล้วถามว่า เศรษฐกิจจะดีได้อย่างไร ซึ่งการเติมกำลังซื้อสามารถทำได้ด้วยการปรับรายได้ของคนให้เพิ่มขึ้น จะทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ นี่คือหลักการที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศชาติดีขึ้น ไม่ใช่ว่ามาแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่เรียกว่า เป็นการชั่วพักชั่วครู่ จ่ายมาแล้วก็หายไป แต่หากปรับค่าแรงขั้นต่ำแล้วมันจะยั่งยืนของมันตลอดไป คนไหนที่มีงานทำ คนนั้นก็จะมีเงินไปซื้อของ แล้วถ้าอ้างว่า หากปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มแล้ว ทุนจะย้ายฐานการผลิต เรื่องนี้ตนก็พูดเรื่องนี้มาเยอะมาก ตั้งแต่ช่วงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็น 300 บาท ซึ่งตนมองว่า หากใครอยากย้ายฐานการผลิตก็ให้ย้ายไปเลย เพราะถึงไม่ปรับเพิ่มเขาก็ย้ายไปที่ประเทศที่มีการให้สิทธิ สวัสดิการสำหรับการลงทุนอยู่แล้ว ถ้าเขาเห็นว่าประเทศอื่นๆ ไม่มีความมั่นคงเขาก็จะเลือกตั้งฐานการผลิตที่เมืองไทย เพราะมองว่า เพิ่มค่าแรงขึ้นมานิดหน่อยเขาก็อยู่ได้ เพราะประเทศไทยมีการอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจมากมายอยู่แล้ว

“ดังนั้นการปรับค่าแรงขั้นต่ำ จึงต้องปรับตามสภาพความเป็นจริง ตอนนี้ข้าวของแพงขึ้นทุกอย่าง ขณะเดียวกันเงินในกระเป๋าคนน้อยลง แล้วจะให้เขาทำอย่างไร ถ้าไม่ปรับเพิ่ม กำลังซื้อของโรงงานที่เขาผลิตออกมาก็ไม่เกิด ออร์เดอร์น้อย โรงงานก็แย่อยู่ดี เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ ความจริงนี่เป็นหลักการเอาเงินนายจ้างปล่อยออกมา แล้วเอาเงินนายจ้างซื้อของกลับไปเหมือนเดิม” นายชาลี กล่าว

นายชาลี กล่าวต่อว่า ขณะนี้ คณะกรรมการไตรภาคีมีก็เหมือนไม่มี มีไว้เพื่อที่จะบอกต่างชาติได้ว่า ประเทศไทยมีกรรมการไตรภาคีที่ดูแลการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เอาเข้าจริงๆ เวลาจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่า จะให้ไปทางไหน เพราะกรรมการจาก 3 ส่วน ซึ่งฝ่ายนายจ้าง กับฝ่ายลูกจ้างความเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่ 3 คือ รัฐ ที่จะให้ไปทางไหน ก็ไปทางนั้น จะให้ปรับหรือไม่ปรับขึ้นอยู่กับคนกลาง รัฐบาลอยากให้ไปทางไหน ดังนั้น ตนเห็นว่า กรรมการค่าจ้างควรเพิ่มสัดส่วนนักวิชาการ ผู้ที่ได้รับผล กระทบเข้ามาอีกกลุ่ม

เมื่อถามว่า ตัวเลขที่ควรปรับเพิ่มควรเป็น 400 บาท เท่ากันทั้งประเทศ ตามที่ฝ่ายรัฐบาลเคยหาเสียงเอาไว้ หรือตัวเลขไหนจึงจะเหมาะสม นายชาลี กล่าวว่า หลักการของ คสรท. เราเห็นว่า ควรมีการปรับในอัตรา 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ แต่รัฐบาลอยากให้เท่าไหร่ ก็ขอให้ปรับให้เท่ากันทั้งประเทศก็แล้วกัน ถ้าอยากให้ทุกจังหวัดมีเศรษฐกิจที่ดีเหมือนกันก็ต้องเอาตรงนี้เป็นรากฐานของคนได้มีเงินซื้อของเท่ากันเสียก่อน เมื่อถึงเวลานั้น ก็เดินไปพร้อมกันทุกจังหวัด

“ของเราที่เสนอ คือ 492 บาท แต่ถ้าเขาคิดว่า จ่ายได้เท่านี้ ด้วยหลักการและเหตุผลก็ขึ้นอยู่กับทางภาครัฐ พิจารณาแล้วจะได้เท่าไหร่ก็ได้ แต่สมควรจะได้เท่ากัน เพราะรัฐบาลหาเสียงเอาไว้ ถ้าไม่ทำก็เสียรังวัด เพราะฉะนั้น สมควรที่จะต้องทำ เพราะตอนนี้นายกฯ ก็พูดไปทาง รัฐมนตรี (รมว.แรงงาน) ก็พูดไปทาง ตอนนี้นายกฯ ต้องเป็นคนให้ข่าวเองทุกเรื่องหรือเปล่า” ที่ปรึกษา คสรท. กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า จะมีการประกาศตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำในเดือน ธ.ค. 2566 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับแรงงาน แต่ยอมรับว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั้งประเทศในคราวเดียวนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการขึ้นค่าแรงก็จะมีความแตกต่างกัน.