สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ว่า นายลอว์เรนต์ ฟอร์เมอรี ผู้เขียนนำของงานศึกษา และนักวิชาการหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า ดาวทะเลไม่มีลำตัว และคำอธิบายที่ดีที่สุดคือ มันเป็นหัวที่คลานไปตามพื้นทะเล ซึ่งไม่ตรงกับข้อสันนิษฐานใด ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์มีต่อสัตว์ชนิดนี้เลย

นักวิทยาศาสตร์หลายคนกล่าวว่า วิธีการจัดลำดับทางพันธุกรรมแบบใหม่ ทำให้เกิดการค้นพบครั้งนี้ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า มันจะช่วยตอบคำถามสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับสัตว์ในกลุ่ม “เอไคโนเดิร์ม” เช่น ปลาดาว, เม่นทะเล, เหรียญทะเล และปลิงทะเล รวมถึงบรรพบุรุษร่วมกับมนุษย์ และสัตว์อื่น ๆ ที่ดูแตกต่างจากพวกมัน

“นี่คือความลึกลับทางสัตววิทยาที่มีมานานหลายศตวรรษ” นายคริสโตเฟอร์ โลวี ผู้เขียนร่วมอาวุโส และนักชีววิทยาทางทะเลและการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวในแถลงการณ์

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยสามารถระบุยีนที่ควบคุมการพัฒนา “เอ็กโทเดิร์ม” ของปลาดาว ซึ่งรวมถึงผิวหนังและระบบประสาทของมัน โดยพวกเขาตรวจพบลักษณะทางพันธุกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาส่วนหัว “อยู่ทั่วตัวปลาดาว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนตรงกลาง และศูนย์กลางของรยางค์แต่ละข้าง

“แต่ยีนที่แสดงถึงการพัฒนาส่วนลำตัวและหาง กลับไม่มีอยู่เป็นส่วนใหญ่ นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า ดาวทะเลมีตัวอย่างที่น่าทึ่งที่สุด สำหรับการแยกส่วนหัวและลำตัว ตามที่เราทราบในปัจจุบัน” ฟอร์เมอรี กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP