เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 พ.ย. ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงข่าวกรณีรถบรรทุกสิบล้อ ตกลงไปในบ่อโครงการก่อสร้างไฟฟ้าลงดินของ MEA ปากซอยสุขุมวิท 64/1 เมื่อวานนี้ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บว่า สาเหตุอาจจะเกิดได้ 2 เรื่อง 1.รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 25 ตัน จากการคำนวณด้วยสายตาคาดว่าบรรทุกน้ำหนักประมาณ 45 ตัน ซึ่งต้องมีการพิสูจน์กันต่อไป 2.การก่อสร้างฝาบ่อมีมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งมีการซ่อมแซมเสริมคานเหล็กให้มีความแข็งแรงมากขึ้น

เบื้องต้นมาตรการความปลอดภัยของ กทม. คือ การควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก กับมาตรฐานการก่อสร้าง อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่อยู่ระหว่างการทำฐานราก, การก่อสร้างท่อสายไฟฟ้าใต้ดิน ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การก่อสร้างท่อระบายน้ำ Pipe Jacking ของสำนักการระบายน้ำ โดยช่วงบ่ายของวันนี้จะมีการนัดแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยถึงมาตรการความปลอดภัย โดยเฉพาะตัวปิดฝาบ่อซึ่งเป็นโครงสร้างชั่วคราว และความเรียบของฝาบ่อ

นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ต่อมาน้ำหนักบรรทุก มีความซับซ้อนพอสมควร กทม.ต้องร่วมกับตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ดูแลทางหลวงท้องถิ่น โดย กทม.ออกประกาศผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย เดินบนทางหลวงท้องถิ่น ในเขตความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ประกาศ ณ วันที่ 31 มี.ค. 65 ซึ่งต้องกำหนดน้ำหนักเหมือนกับ อปท.อื่นๆ เพราะรถไม่ได้วิ่งภายในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เพราะรถบรรรทุกมีการวิ่งไปในจังหวัดอื่นๆ ที่กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีด่านชั่งน้ำหนัก

ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นคดีอาญา โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน เมื่อจับกุมแล้วจึงต้องส่งให้ทางตำรวจเป็นผู้ดำเนินคดี การดำเนินการต่อไปต้องจัดชุดร่วมกับตำรวจ และ ทล.ไม่รอชั่งน้ำหนักบนถนน แต่จะชั่งที่ต้นทางที่ไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้ง 317 แห่ง ที่มีการขุดดินเหนียว ซึ่งได้ยืมเครื่องชั่งจาก ทล.มา 1 ตัวแล้ว โดยในวันนี้จะเข้าสุ่มตรวจ 1 ไซต์ก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม กทม.ได้จ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาการวัดน้ำหนักบรรทุก ผ่านสะพานข้ามแยกต่างๆ โดยวิธี Bridge Weight in Motion ที่หลายประเทศมีการใช้งานจริง รวมถึงศึกษาข้อกฎหมายที่จะนำไปบังคับใช้ในการพิสูจน์หลักฐาน ใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ โดยผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จในอีก 2 เดือน แล้วจะนำงบกลางของ กทม.จัดซื้อเครื่องชั่งติดตั้งตามสะพานในจุดต่างๆ

ทั้งนี้ พบว่ารถคันที่เกิดเหตุบริเวณสุขุมวิท 64/1 มีภาพบันทึกไว้ได้เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 66 พบว่ามีน้ำหนักบรรทุกเกินขณะวิ่งผ่านบนสะพานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยพบว่ามีน้ำหนักรวม 61 ตัน ซึ่งเกินมาตรฐานของรถสิบล้อขนาด 3 เพลาตามกฎที่ต้องไม่เกิน 25 ตันมากถึง 36 ตัน อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนำภาพมาเปรียบเทียบกันแล้ว รถบรรทุกคันที่เกิดเหตุเมื่อวานนี้ กับคันที่ กทม. บันทึกไว้ได้เมื่อวันที่ 12 ก.ค นั้นมีป้ายเลขทะเบียนตรงกัน แต่ป้ายชื่อที่อยู่บนหลังคารถคนละชื่อ จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นคันเดียวกัน

นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนน้ำหนักที่รองรับฝาบ่อได้ต้องทำไว้เกินน้ำหนักที่กฎกำหนดไว้แล้ว รวมถึง กทม.จะเพิ่มเงื่อนไขออกใบอนุญาตการก่อสร้าง ถ้าไซต์ก่อสร้างใดมีการบรรทุกน้ำหนักเกินจะมีการให้หยุดการก่อสร้างชั่วคราว พร้อมกับเสนอรัฐบาลปรับกฎหมายให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยให้เจ้าของรถบรรทุกหรือผู้ว่าจ้างมีความผิดด้วย ซึ่งต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานอย่างเข้มข้นมากขึ้น

“ในช่วง 2 วันนี้ ต้องเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยให้ผู้รับเหมาต่างๆ ตรวจสอบความแข็งแรงของฝาบ่อ อย่าง กฟน.มี 879 บ่อ ถ้ามีปัญหาไม่ต้องให้รถผ่านก่อน รวมถึงสั่งการให้ทุกเขตตรวจสอบไซต์ก่อสร้างที่ดูแล้วว่าจะบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยนำเครื่องชั่งของ ทล.ไปชั่งที่ไซต์ก่อสร้างเลย” นายชัชชาติ กล่าว

ในส่วนการดำเนินคดีกับรถคันดังกล่าว นายชัชชาติ กล่าวว่า ในวันนี้จะมีการชั่งน้ำหนักดิน โดยทางเจ้าพนักงานทางหลวงท้องถิ่น จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเมื่อวานนี้ที่ไม่สามารถชั่งน้ำหนักได้ เนื่องจากล้อรถแตกผิดรูป เคลื่อนที่ไม่ได้ ตามระเบียบของกรมทางหลวงจะต้องให้รถสามารถเคลื่อนที่ได้แล้ววิ่งขึ้นมาบนเครื่องชั่งน้ำหนักจึงต้องรอให้มีการเปลี่ยนล้อให้เรียบร้อย เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วทางเจ้าพนักงานทางหลวงท้องถิ่น จะทำการบันทึกและส่งข้อมูลพร้อมนำตัวคนขับและรถส่งให้กับตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับเรื่องสติกเกอร์ที่ติดอยู่บริเวณหน้ารถนั้นก็เป็นอำนาจการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นเดียวกัน เนื่องจาก กทม.มีอำนาจตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ได้แค่ตรวจว่ามีผ้าคลุม หรือดินตกหล่นหรือไม่ ส่วนกรณีที่โซเชียลสงสัยว่าสำนักงานเขตต่างๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับส่วยหรือไม่นั้น จากการตรวจสอบพบว่าไม่น่าเกี่ยวข้อง เนื่องจาก กทม.ไม่ได้มีอำนาจในการชั่งน้ำหนักและจับกุม

“ทางเจ้าของธุรกิจ ถ้าทำผิดกฎหมายเราจะจัดการทุกมาตรการอย่างเด็ดขาด ถือว่าเอาเปรียบประชาชน ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจทำตามกฎหมาย ปัญหาน่าจะบรรเทาลงไปเยอะ แต่ว่าเป็นเรื่องของคนเห็นแก่ตัว ที่แบกน้ำหนักเกิน เอาเปรียบใช้ทรัพยากรของคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม” นายชัชชาติ กล่าว