จากกรณีเกิดเหตุทรุดตัวของอาคารโรงเรียนพนัสพิทยาคาร หมู่ 4 ต.กุฎโง้ง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ 2 ชั้น อายุประมาณ 47 ปี โดยห้องที่ 11 ขณะกําลังเรียนวิชาภาษาอังกฤษ พื้นไม้ได้หักลงความลึกประมาณ 2 เมตร ซึ่งด้านล่างมีน้ำขังอยู่ ทางคณะครูได้ช่วยกันนำตัวนักเรียนขึ้นมาแต่ละคนได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ถลอกตามร่างกาย มีเพียง 2 คนที่กู้ภัยสว่างเหตุทุ่งเหียงพนัสนิคม นำส่งรพ.พนัสนิคม ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

สุดระทึก! พื้นไม้โรงเรียนถล่ม เด็กนักเรียนกว่า 30 ชีวิต นั่งเรียนอยู่ดีๆตกลงไปเจ็บ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ทหารจากบชร. 1  ค่ายพนัสบดีศรีอุทัย อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี นำกำลังเข้ามาช่วยทำการรื้อและย้ายโต๊ะ อุปกรณ์การเรียนไปยังห้องข้างเคียงเพื่อเรียนได้ตามปกติแล้ว

ด้าน นายประโยชน์  กีรติปกรณ์  ผอ. ผู้บริหารโรงเรียนฯ เปิดเผยว่า สาเหตุน่าจะเกิดมาจากพื้นซึ่งเป็นไม้ที่เก่าแก่มีอายุมากกว่า 40 ปี จึงเกิดการผุ และรับน้ำหนักนักเรียนไม่ไหว จึงพังถล่มลงมา

ต่อมานายอนันต์  ปรีดาสุทธิจิตต์  ส.ส. ชลบุรีเขต 5  ในฐานะกรรมาธิการกระทรวงศึกษาพร้อมคณะฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจดูที่เกิดเหตุ พร้อมกล่าวว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบว่า พื้นไม้นั้นมีความเก่าแก่ น่าจะหมดสภาพ ทำให้รับน้ำหนักนักเรียนไม่ไหวจึงพังถล่มลงมา  ตนจะนำปัญหาดังกล่าวและประสานเพื่อหางบประมาณจากกระทรวงศึกษาเพื่อมาทําการซ่อมแซม ปรับปรุง เพื่อให้ใช้ในการเรียน การสอนได้ตามปกติต่อไป

ด้านดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินการในส่วนของ สพฐ. นั้น ว่าที่ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมาย นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงยังโรงเรียนดังกล่าว พบว่า เหตุเกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 15.15 น. โรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ มีกิจกรรมให้นักเรียนตอบคำถามหน้าชั้นเรียน จึงมีการรวมตัวทำกิจกรรมบริเวณหน้าชั้นเรียนจำนวนมาก ทำให้เกิดเหตุการณ์พื้นห้องเรียนทรุดตัว ส่วนสาเหตุของการทรุดตัวนั้น พบว่าห้องที่เกิดเหตุไม่มีอาการบ่งบอกถึงการทรุดตัว ซึ่งวิศวกรของ สพฐ. ได้เคยเข้ามาตรวจสอบ เมื่อวันที่ 18 ม.ค.66 และโรงเรียนได้ใช้งบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องทำการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

“ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำว่า กรณีตามที่ปรากฏข่าว หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าสถานศึกษาหลีกเลี่ยงหรือละเลยไม่ดำเนินการตามคำสั่งและมาตรการการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ จะถือว่าปล่อยปละละเลยและบกพร่อง จะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามลำดับต่อไป” โฆษก สพฐ. กล่าว