กรณีนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการสอบถามสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในที่ประชุมถึงความคืบหน้าในกรณีนายอุปกิต ปาจรียางกูร สว. ที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดและอาชญากรข้ามชาติ ว่าเหตุใดการยึดอายัดทรัพย์ในคดีของ สว.อุปกิต จึงมีความล่าช้า แตกต่างจากรายคดีอื่นๆ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

‘กมธ.ความมั่นคงฯ’เกาะติดคดี ‘สว.อุปกิต’หวั่นรอเอกสิทธิ์คุ้มครองหลังสภาเปิด 12 ธ.ค.

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจาก พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. ว่า ภายหลังจากที่พนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ได้เสนอสำนวนไปยังพนักงานอัยการ โดยได้มีการแจ้งข้อหาร่วมกันฟอกเงินแก่นายอุปกิจ ปาจรียางกูร สว. แต่ทางอัยการมีความเห็นว่า ควรจะแจ้งข้อหาสนับสนุนหรือช่วยเหลือหรือสมคบกันค้ายาเสพติด ทำให้ตรงส่วนนี้จะเป็นอำนาจของพนักงานอัยการที่จะสั่งได้ ทำให้ประมาณวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา นายอุปกิต ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน ดังนั้น เมื่อมีการแจ้งข้อหาสนับสนุนหรือช่วยเหลือหรือสมคบกันค้ายาเสพติด ทำให้จะต้องมีการตรวจสอบทรัพย์สิน

ซึ่งในตอนนี้ ป.ป.ส.กทม. และพนักงานสอบสวน บช.ปส. อยู่ระหว่างการพิจารณาอายัดทรัพย์ไว้ตรวจสอบว่าจะมีทรัพย์สินรายการใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีนี้บ้าง และตนก็ยังอยู่ระหว่างรอผลสรุปรายงานจากเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ตนได้สั่งการ ป.ป.ส.กทม. ไปแล้วว่า ให้ดำเนินการประสานกับพนักงานสอบสวน บช.ปส. ให้เเล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้มีคำสั่งให้สืบทรัพย์และตรวจสอบทรัพย์ตามอำนาจของเลขาธิการ ป.ป.ส. จากนั้นจึงจะมีการรวบรวมข้อมูลรายการทรัพย์สินเพื่อยื่นเสนอต่อบอร์ดคณะอนุกรรมการประจำคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน เพื่อพิจารณาว่าทรัพย์ใดควรยึด หรือทรัพย์ใดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก็ต้องคืนกลับไป

ส่วนประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไม ป.ป.ส. จึงดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินของนายอุปกิตล่าช้านั้น พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า เนื่องจากในตอนแรกพนักงานสอบสวน บช.ปส. ได้แจ้งเพียงข้อหาร่วมกันฟอกเงิน แต่เมื่อสำนวนไปถึงพนักงานอัยการสูงสุด ได้มีการตรวจดูพยานหลักฐานแล้ว จึงเห็นควรว่าจะต้องแจ้งข้อหาเพิ่มเติมตามความผิดที่พบ ก็คือข้อหาสนับสนุนหรือช่วยเหลือหรือสมคบกันค้ายาเสพติด (โดยไม่ใช่ตัวการ แต่เป็นผู้สนับสนุน) ทำให้พนักงานสอบสวน บช.ปส. และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.กทม. จะต้องมีการพูดคุยหารือถึงรายการทรัพย์สินกันก่อน จึงทำให้ในตอนนี้ตนไม่สามารถตอบได้ว่า มีรายการทรัพย์ใดบ้าง และมีมูลค่าเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น อีกทั้งพนักงานอัยการจะต้องมีการใช้มาตรา 11/7 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 จึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบสักระยะ

เมื่อถามว่าระหว่างที่เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังไม่ได้มีการเซ็นคำสั่งอายัดทรัพย์ไว้ตรวจสอบ อาจมีการจำหน่าย ถ่ายเท โอนย้าย ซุกซ่อนทรัพย์สินไปไว้ที่อื่น จะเป็นข้อกังวลที่จะติดตามทรัพย์กลับมาไม่ได้หรือไม่ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ระบุว่า แม้บุคคลจะมีการถ่ายเททรัพย์สินไปที่ไหนอย่างไร เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถขยายผลสืบทรัพย์ติดตามกลับมาได้ ยกตัวอย่าง หากบุคคลมีการขายบ้านพักที่อยู่อาศัย ก็จะมีพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารของการซื้อขาย เพื่อเป็นพยานหลักฐานในคดีต่อการติดตามทรัพย์ได้ ทั้งนี้ ภายในวันจันทร์ที่ 13 พ.ย. เป็นต้นไป คาดว่าจะมีความคืบหน้าในเรื่องรายการทรัพย์สินที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป จำกัด (ALLUREGROUP CO.,LTD.) จากพนักงานสอบสวน บช.ปส. และ ป.ป.ส.กทม. ขอให้ความมั่นใจว่า ป.ป.ส. ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าแต่อย่างใด

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (กก.) กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว ตนได้รับคำชี้แจงว่าขณะนี้ทาง ป.ป.ส. เหลือแค่การสืบทรัพย์ และเข้าไปดูว่าทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นของ สว.อุปกิต นั้น มีรายการทรัพย์สินอะไรบ้าง ที่ได้มาจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดี คาดว่าในช่วงสัปดาห์หน้า จะมีความคืบหน้าให้ประชาชนรับทราบ ส่วนทาง ปปง. มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลังจากแจ้งข้อหาไปแล้ว คือ ข้อหาอาชญากรรมข้ามชาติ และปกติอัยการต้องส่งเรื่องไปยัง ปปง. เพื่อให้ดำเนินการอายัดทรัพย์ต่อไป โดยทั้ง ปปง. และ ป.ป.ส. ต้องทำงานควบคู่กัน.