สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ว่า บังกลาเทศมีโรงงานผลิตเสื้อผ้า 3,500 แห่ง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 85% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศราว 55,000 ล้านตากาต่อปี (ราว 2 ล้านล้านบาท) โดยจัดส่งสินค้าให้กับแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของโลก เช่น ลีวายส์ (Levi’s), ซาร่า (Zara) และเอช แอนด์ เอ็ม (H&M)

ทว่าเมื่อเดือนที่แล้ว พนักงานของโรงงานหลายแห่งรวมตัวประท้วงแบบรุนแรง เพื่อเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีคนงานเสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย และโรงงานมากกว่า 70 แห่งถูกรื้อค้น หรือได้รับความเสียหายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แม้คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลธากา เพิ่มค่าจ้าง 56.25% เป็น 12,500 ตากาต่อเดือน (ราว 4,140 บาท) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แต่กลุ่มคนงานปฏิเสธข้อเสนอข้างต้น และเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 23,000 ตากาต่อเดือน (ราว 7,600 บาท)

“ตำรวจยื่นฟ้องประชาชน 11,000 คน โดยไม่ระบุชื่อ จากการโจมตีและบุกยึดโรงงานเสื้อผ้าตูซูกา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา” เจ้าหน้าที่โมชาร์ราฟ ฮอสเซน สารวัตรตำรวจ กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น ตำรวจบังกลาเทศยังระบุว่า โรงงาน 150 แห่งปิดทำการในเมืองอุตสาหกรรมหลัก เช่น เมืองอาชูเลีย และเมืองกาซิปูร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงธากา เนื่องจากผู้ผลิตหลายรายกลัวว่า จะมีการหยุดงานประท้วงอีก

ทั้งนี้ การประท้วงค่าแรงขั้นต่ำในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นการประท้วงครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 10 ปีของบังกลาเทศ ขณะที่นายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ผู้นำบังกลาเทศ ปฏิเสธการเพิ่มค่าจ้างให้กับคนงาน พร้อมกับเตือนว่า การประท้วงที่รุนแรงอาจทำให้เกิดการสูญเสียงานได้

อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานบังกลาเทศยังคงจัดการประท้วง และเพิกเฉยต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการ โดยให้เหตุผลว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับค่าอาหาร, ค่าเช่าที่พัก, ค่ารักษาพยาบาล และค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน ซึ่งพุ่งสูงในปัจจุบัน.

เครดิตภาพ : AFP