เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ มีนโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime เรียนฟรี มีงานทำ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ตนั้น ขณะนี้นโยบายดังกล่าว พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้กำชับว่าจะต้องจัดทำแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้ที่จะบรรจุไว้ในแท็บเล็ตก่อน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้วางแผนดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว โดยแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้นั้น จะอยู่ในแผนงบประมาณปี 2567 เพื่อให้ผู้ใช้งานเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ตามนโยบายของ รมว.ศธ. ส่วนการจัดสรรเครื่องแท็บเล็ต อยู่ที่ทิศทางที่ รมว.ศึกษาธิการ จะมอบหมายต่อไป

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้นั้น พล.ต.อ.เพิ่มพูน ย้ำว่าจะต้องเป็นแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้ที่ใช้จริงเป็นรูปแบบที่ทันสมัย พร้อมกับตอบโจทย์การใช้งานและพัฒนาผู้เรียน ซึ่งคาดว่าในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 จะต้องมีแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะได้ใช้อย่างเป็นทางการแล้ว แต่ปัญหาตอนนี้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังล่าช้าอยู่ อาจทำให้ระยะเวลาการดำเนินการในเรื่องนี้ต้องขยับไปหลังเดือนพฤษภาคม ซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะ สพฐ. จะจัดสรรกระบวนการให้เรียบร้อยที่สุด ส่วนการใช้แพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้นั้นจะเริ่มในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นก่อน อย่างไรก็ตามในอนาคตเราอาจไม่จำเป็นจะต้องไปยึดติดการนำแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้มาบรรจุอยู่ในแท็บเล็ตเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่มีอุปกรณ์สื่อสารเทคโนโลยีอยู่แล้ว เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น มือถือแทบทุกคนอยู่แล้ว ดังนั้นเราอาจทำแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาสาระการเรียนรู้มาใส่ไว้ในระบบคลังข้อมูลและให้ผู้เรียนเลือกนำมาใช้งาน ซึ่งในอนาคตอาจไม่จำเป็นจะต้องแจกแท็บเล็ตให้แก่เด็กทุกคน แต่อาจสำรวจความพร้อมว่าใครมีและไม่มีอุปกรณ์บ้าง