เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา มี แถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการ Digital Wallet โดยรัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท เริ่มโครงการได้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2567 และจะตั้งงบประมาณชดใช้คืนเงินกู้จำนวนนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี ซึ่งจะทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี นั้น

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่า กระบวนการดังกล่าวชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ทุกประการ โดยรัฐบาลมอบภาระการพิจารณาว่า การกู้เงินจำนวนดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย และ “มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ” ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 53 หรือไม่ โดยให้รัฐสภาเป็นผู้มีหน้าที่พิจารณา อีกทั้งแม้ร่างพระราชบัญญัติจะผ่านรัฐสภาแล้ว ก็ยังสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีกตามมาตรา 148 (1) ของรัฐธรรมนูญ ส่วนการเสนอเป็นพระราชบัญญัติจะไม่ทำให้คณะรัฐมนตรีมีความผิด เพราะเป็นเพียงแค่การเสนอร่างกฏหมายตามมาตรา 133 (1) ซึ่งยังไม่มีผลบังคับเป็นกฎหมาย

หากรัฐบาลสามารถทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะการที่จีดีพีขยายตัวเพิ่มอีกร้อยละ 2.2-2.5 จากเดิม คิดเป็นเงินประมาณ 400,000 ล้านบาทในปีแรก และจะเพิ่มมากขึ้นในปีถัดไปจนครบ 4 ปี ของรัฐบาล ซึ่งมากกว่าเม็ดเงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลใช้ไป นอกจากนี้ การที่จีดีพีขยายตัวถึงร้อยละ 5 จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ตามที่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 62

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นด้วยที่รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบด้วยการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินนโยบาย ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความสำเร็จของการใช้เงินแผ่นดินได้ง่าย ผลงานของรัฐบาลจะลบล้างคำสบประมาทของทุกฝ่าย รวมถึงนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาคัดค้านนโยบาย แต่หากจีดีพีของประเทศไม่สามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 หรือพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ผ่านสภา นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออก นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย 14 พฤศจิกายน 2566