นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)ได้กล่าวว่าที่ผ่านมากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ให้การสนับสนุนโครงการประสานงานเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ปี พ.ศ.2563 มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาศักยภาพของแกนนำผู้ประสานงานในเครือข่ายพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและภูมิภาคให้มีทักษะที่หลากหลายในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือเด็กนอกระบบแบบองค์รวม ทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยมีการดำเนินงานใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.จัดทำยุทธศาสตร์การทำงานพัฒนาเด็กนอกระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย 2.พัฒนากลไก ภาคี เครือข่ายการทำงานขับเคลื่อนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และ 3.จัดทำต้นแบบ/องค์ความรู้รูปแบบการช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านกระบวนการเรียนรู้การทำงานของภาคีเครือข่ายด้านเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ที่ครอบคลุมกรอบการดำเนินงานข้างต้น อันได้แก่ 1.เพื่อประสานงาน ติดตาม ประเมินผล และสนับสนุนทางวิชาการให้กับ 41 ภาคี/เครือข่ายเชิงพื้นที่ของชุดโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา 2.เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้และถอดบทเรียนการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้และการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาโดย 41 ภาคี/เครือข่ายเชิงพื้นที่ 3.เพื่อถอดบทเรียนการดำเนินงานของ 41 ภาคี/เครือข่ายเชิงพื้นที่ให้ได้กลไกการทำงานเด็กนอกระบบในระดับพื้นที่ร่วมกับภาคีความร่วมมือของหน่วยงาน/องค์กรในการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย รูปแบบการช่วยเหลือเด็กนอกระบบที่สอดคล้องกับปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและต้นแบบชีวิตเด็กนอกระบบที่มีความสามารถดำรงชีพในด้านทักษะและการจัดการตนเอง

นายศุภชัย ไตรไทยธีระ ผู้ประสานโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวมีการดำเนินงานใน 11 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ ภาคอีสาน (จังหวัดเลยและสกลนคร) โดยมูลนิธิปุณเญสิเพื่อการพัฒนาจิต 2.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคอีสานตอนบน (จังหวัดบึงกาฬ) โดยศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน (บ้านศูนย์สิทธิ) 3.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.อุบลราชธานี) โดยสถาบันพัฒนาเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา 4.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ ภาคอีสานตอนล่าง 5 จังหวัด(อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ มุกดาหาร) โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ข้าวโฮยเกลือสตูดิโอ วิสาหกิจเพื่อสังคม 5.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ ภาคอีสานตอนบนจังหวัดหนองคาย โดยสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน 6.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ ภาตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดชัยภูมิ) โดยมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ (สำนักงานภาคอีสาน) 7.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครพนม) โดยศูนย์การเรียนซี วาย เอฟ 8.โครงการ สนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ ภาคอีสาน (สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา) โดยสมาคมป่าชุมชนอีสาน 9.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมูลนิธิบ้านแห่งความหวัง จังหวัดบุรีรัมย์ 10.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เครือข่ายจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์) โดยสมาคมไทบ้าน จังหวัดมหาสารคาม 11.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด โดยบริษัท เอส ไอ แอล ซี จำกัด โดยมีพื้นที่เป้าหมายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ มุกดาหาร กลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินการ ประกอบด้วย เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวน 5,750 คน ครูนอกระบบการศึกษาจำนวน 664 คน

นายศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่าสามารถสรุปบทเรียนพบผลลัพธ์สำคัญจากการดำเนินงานแต่ละโครงการฯ พบว่าเด็กนอกระบบมีศักยภาพจากภายในและค้นหาอาชีพในฝัน พัฒนาอารมณ์ ตระหนักในคุณค่าตัวเอง ฝึกทักษะอาชีพตามสนใจ เด็กได้เข้าใจมุมมองเกี่ยวกับครอบครัวใหม่ๆ การต่อยอดในเรื่องการพัฒนาจิตระดับลึกในเรื่องคุณธรรม ให้เด็กมีความเมตตากับตัวเอง ให้เด็กไม่รู้สึกเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ เข้าใจวิธีคิดของผู้ให้ เสริมพลังให้เข้มแข็ง เด็กนอกระบบเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงจากฐานชีวิตของครัวครัว เกิดการจัดความสัมพันธ์ใหม่ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ครอบครัวบนฐานสมาธิ สติปัญญา เด็กนอกระบบเห็นคุณค่าตัวเอง สามารถก้าวมาสู่พื้นที่ทางสังคมชุมชนได้โดยการรวมกลุ่ม พัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมอาชีพ เกิดเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เช่น กลุ่มอาชีพเยาวชนคนรักสมุนไพรตำบลโซ่และตำบลศรีชมภู พร้อมกับครูพี่เลี้ยงมีทักษะความรู้ในการช่วยเหลือเด็กนอกระบบแบบเด็กเป็นศูนย์กลางและการติดตามช่วยเหลือเด็กอย่างมืออาชีพ การทำงานช่วยเหลือเด็กในรูปแบบเครือข่าย หลักสูตร เก่ง ดี มีสุข มีการกระจายและรวมเครือข่ายครูนอกระบบที่เข้มแข็ง เกิดคณะทำงานระดับ เช่นในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เกิดการขับเคลื่อนงานช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ โดยเฉพาะเกิดแผนการพัฒนาทักษะอาชีพของเด็ก เยาวชนนอกระบบๆ โดยเด็กนอกระบบเข้ารับการพัฒนาอาชีพอย่างน้อย 26 อาชีพ ทำให้มองเห็นโอกาสในการเข้าสู่อาชีพ และพัฒนา ต่อยอดอาชีพใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ต่อไป

ด้านนายวิทิต เติมผลบุญ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนซีวายเอฟ เปิดเผยว่า จากโครงการฯดังกล่าว ทางศูนย์ฯได้ให้การช่วยเหลือกลุ่มเด็กนอกระบบที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ในศาลเยาวชนและครอบครัว สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ในด้านการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ เป็นผู้ประกอบการ ทำงานเชื่อมประสานกันแบบไร้รอยต่อโดยร่วมกันกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ตั้งแต่กลไกในระดับตำบล จนถึงระดับจังหวัด เพื่อลดการกระทำผิดและตัดตอนการกระทำผิดซ้ำ จนเกิดรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการตามโจทย์และเหมาะสมกับรูปแบบการเรียนรู้ เช่น โรงเรียนมือถือ การเป็นผู้ประกอบการทำขนมเบเกอร์รี่ มัดย้อม ทำสมุนไพร รวมไปถึงการพัฒนาให้ความรู้รูปแบบการตลาดและธุรกิจ ทำให้เด็กนอกระบบที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม สามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้หลังจากที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้พ้นโทษแล้ว และสามารถอยู่ในสังคมได้