เมื่อว้นที่ 17 พ.ย. จากเหตุการณ์ น้องม่อน นักศึกษา ปวช.ปี 3 ของสถาบันชื่อดังใน จ.พระนครศรีอยุธยา จมน้ำระหว่างไปเข้าค่ายปัจฉิมนิเทศของทางสถาบัน เสียชีวิต แพทย์บอกว่าน้องจมน้ำนานเป็นชั่วโมง พ่อแม่หัวใจสลายที่ต้องเสียลูกชายอนาคตไกล เป็นเด็กเรียนเก่ง ผ่านมาจนถึงตอนนี้ยังไม่มีการรับผิดชอบใดๆ ที่เป็นรูปธรรม

ทางครอบครัวเล่าว่า ในเอกสารที่ทางสถาบันส่งมาให้ทางครอบครัว พร้อมจดหมายขออนุญาต ระบุโครงการนี้คือ ค่ายปัจฉิมนิเทศ ของนักศึกษา ปวช.ปี 3 ใช้งบ 2.3 แสนบาท ตกหัวละประมาณ 1,500 บาท กำหนดการ 3 วัน 2 คืน ที่ค่ายแห่งหนึ่งใน จ.สระบุรี มีนักศึกษาไป 156 คน ครู 5 คน ทีมวิทยากร (ครูฝึก) 6 คน โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 2 ของค่าย ช่วง 16.30 น. ในตารางกิจกรรมเขียนระบุว่าเป็นกิจกรรม “เล่นน้ำตกหน้าค่าย” กิจกรรมนี้ที่น้องม่อนจมน้ำ

คุณพ่อบอกว่า ช่วง 4 โมงเย็นของวันเกิดเหตุ น้องชายที่รู้จักกัน เขาอยู่ใกล้เคียงในที่เกิดเหตุ โทรฯ มาแจ้งว่ามีเด็กจมน้ำที่ค่าย ตอนนั้นพ่อยังไม่ชัวร์ว่าเป็นลูกชายเราจริงไหม ทางโรงเรียนก็ไม่มีใครติดต่อมา พยายามโทรศัพท์ติดต่อทางโรงเรียน ไม่ว่าจะโทรฯ หาใครก็ติดต่อไม่ได้ จนตัดสินใจขับรถจากบ้าน ไปกับคุณแม่ ระหว่างทางก็พยายามโทรฯ ตลอด ติดต่อใครที่โรงเรียนไม่ได้เลย ได้แต่ประสานกับน้องชาย จนเริ่มแน่ใจว่าเป็นม่อนจริงๆ

คุณพ่อเล่าต่อทั้งน้ำตาว่า ไปถึงโรงพยาบาล หมอแจ้งว่า น้องม่อนจมน้ำนานเป็นชั่วโมง น้องสู้และยื้อมาสุดทางแล้ว หากยื้อต่อน้องจะยิ่งทรมาน วินาทีที่พ่อไปเห็น ขอให้ได้เห็นลูกตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เห็นภาพลูกเรานอนลืมตา มีสายระโยงระยาง มีบาดแผล ทำใจยอมรับไม่ได้ เอามือปิดตาลูก วินาทีนั้นเหมือนหัวใจมันแตกสลายไปหมด

ขณะที่ป้าอร ป้าของน้องม่อนบอกว่า หลังเกิดเหตุ ได้ไปคุยกับทางโรงเรียน มีวิทยากรที่อยู่ในที่เกิดเหตุมาเล่าเหตุการณ์ เขาบอกว่าตอนเกิดเหตุมันไม่ได้เป็นกิจกรรมที่วางไว้ แต่เป็นการพาเด็กๆ ไปล้างตัว และได้มีการแจ้งเตือนนักศึกษาแล้วว่า อันตราย จุดที่น้ำลึกห้ามลงไปเล่นน้ำ แต่ทางเพื่อนๆ ของม่อนยืนยันว่า เขาแค่เตือนให้ระวัง แต่เขาไม่ได้สั่งห้ามไม่ให้ลงเล่น

หนึ่ง เพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์ บอกว่า ตอนที่ไปเล่นแอ่งน้ำตกหน้าค่าย ที่ทางครูฝึกบอกครอบครัวว่า เป็นการพาเด็กออกมาล้างตัว เพราะกิจกรรมก่อนหน้าเด็กจะเนื้อตัวเลอะเทอะ แต่จริงๆ แล้ว ครูฝึกไม่ได้บอกว่าเป็นการล้างตัว การพามาเล่นน้ำ มันเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่อยู่ในแพลน มีเพื่อนส่วนน้อยที่กลับไปอาบน้ำในที่พัก แต่ส่วนใหญ่ก็ออกมาเล่นน้ำกันหมด

ตรงแอ่งที่น้ำตื้น มันเป็นแอ่งเล็กๆ ที่เด็กไม่มีทางลงไปรวมกันได้หมดแน่นอน บางส่วนก็ต้องลงมาที่แอ่งด้านล่างที่มีจุดน้ำลึกกว่า แต่มีจุดที่ยืนได้ มีโขดหินใต้น้ำที่ยืนได้ น้ำสูงแค่เข่า แต่ถ้าพ้นตรงนั้นไปมันจะเป็นเหว น้ำลึก

หนึ่งซึ่งตอนเกิดเหตุ ยืนอยู่บนบก มองจากจุดห่างๆ เดาเอาว่าม่อนอาจจะลื่น เพื่อนที่อยู่ใกล้ๆ พยายามจะช่วย ดำน้ำลงไปพยายามดึง ดันม่อนขึ้นหลัง แต่สู้ไม่ไหว กระแสน้ำใต้น้ำพัดม่อนไปไกลจากกลุ่มเพื่อน

สถานการณ์ด้านบนมีคนตะโกนว่า “มีคนจมน้ำ มีคนจมน้ำ” วิทยากรก็ร้อง “เฮ้ย” เป่านกหวีดสัญญาณ หนึ่งได้ยินแบบนั้นก็กระโดดลงไปช่วยทันที

วิทยากร ที่ยืนอยู่ใกล้ที่สุด เขามัวแต่ทำอะไรไม่รู้ มัวแต่ปลดกระดุม ยืนถอดถุงเท้า ไม่ยอมโดดลงไปช่วยสักที จนมีวิทยากรอีกคนวิ่งตามมาทีหลัง ยังกระโดดลงไปก่อน จนเพื่อนๆ ขึ้นมาจากน้ำแล้ว วิทยากรคนนี้ก็ยังถอดชุดไม่เสร็จ

วิทยากรคนนี้ยังบอกครอบครัวว่า มีคนห้ามเขาไว้ไม่ให้เขาโดด เพราะเขามีโรคประจำตัว ไม่รู้ว่าเขาว่ายน้ำเป็นไหม แต่ป้าอรมองว่า เขาเป็นวิทยากร เขาต้องผ่านการอบรมมาแล้ว ต้องมีมาตรฐาน มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ ช่วยชีวิตอะไรมาเตรียมให้พร้อม น้องม่อนคงไม่เสียชีวิต แต่สุดท้ายก็รู้ว่าเขาไม่ได้เตรียมอะไรมาเลย จนถึงตอนนี้ทางโรงเรียนก็ยังไม่ได้รับผิดชอบอะไรให้ทางครอบครัวเลย

ทางป้าอรยังบอกอีกว่า ทางโรงเรียนยืนยันจะรับผิดชอบทุกอย่าง ขอให้ทางครอบครัวอย่าไปออกข่าว แต่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ไม่รู้เลยว่าเขาจะรับผิดชอบอย่างไร คุณพ่อบอกว่า จะเอาเงินกี่ล้านมาวางมันก็ทดแทนชีวิตของลูกเราไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีคลิปเสียงของครูคนหนึ่งในวิทยาลัย ที่พูดกับนักเรียนในห้อง บอกว่าก็เสียใจที่มีคนสูญเสีย ดีที่ไม่ใช่เด็กในห้องเรา มีกระแสโจมตีวิทยาลัยอยู่เยอะ ก็ขอให้นักเรียนอย่าไปโพสต์โซเชียลเรื่องนี้ และยังพูดว่า ทางผู้ปกครองโจมตีว่าทำไมทางโรงเรียนแจ้งข่าวช้า ตอนนั้นก็สติแตกกันหมด ไม่คิดว่าน้องจะเสียชีวิต คิดว่าเขาจะฟื้นขึ้นมาได้ ก็เลยยังไม่ได้แจ้ง

ขณะที่คุณพ่อบอกว่า ได้ยินครูในวิทยาลัยพูดแบบนี้มันทำร้ายจิตใจกันมาก เขาบอกว่ายังดีที่ไม่ใช่เด็กในห้องเรา แล้วลูกผมเป็นใคร ไม่ใช่นักเรียนของครูหรือ? เกิดเหตุอะไรกับลูกตน เขาต้องบอกตนเป็นคนแรก แต่นี่ไม่มีเลย ขณะที่ป้าอรก็บอกว่า ที่บอกว่าครูสติแตก แจ้งข่าวช้า อยากรู้ว่าผ่านไป 24 ชั่วโมง ไม่มีใครติดต่อมาสักคน ทำไมถึงไม่มีใครติดต่อครอบครัวมาเลย

ทนายแก้ว เล่าในมุมกฎหมาย ไล่เรียงจากโทษเบาไปหนักก่อน ความผิดแรก คือ มาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ช่วยได้แต่ไม่ช่วย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ส่วนหน่วยงาน หรือเจ้าของสถานที่ ที่เล็งเห็นว่าจุดใดเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดอันตราย แต่ไม่ปักป้าย ไม่แจ้งเตือน ถือเป็นการงดเว้นการกระทำหน้าที่ที่ตัวเองต้องกระทำ ในกรณีนี้ก็คือกรมอุทยานฯ มีหน้าที่ปักป้ายเตือน แต่ไม่ได้ปัก ก็มีความผิดตามกฎหมายอาญา ม.59 วรรคท้าย ต้องรับโทษฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษ 10 ปี  ครู และครูฝึกทั้ง 11 คนที่ไปค่ายนี้ ก็ต้องเป็นตัวการร่วมที่ร่วมรับโทษ ในคดีนี้ด้วย

ส่วนนายจ้างก็คือ โรงเรียน ต้องร่วมรับโทษไปกับลูกจ้าง กรณีนี้จะปฏิเสธความเสียหายทางแพ่งไม่ได้ โรงเรียนต้องรับโทษด้วย

อีกประเด็น สิ่งที่ทำให้ครอบครัวเจ็บช้ำหนัก คือ นางสาวมยุรี สีระบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า หลังเกิดเรื่องเบื้องต้นได้สอบถามคณะครู และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งเป็นเพื่อนของน้องม่อน

สาเหตุที่เพื่อนๆ ไม่ได้เข้าไปช่วยตอนที่น้องยกมือ ซึ่งได้ข้อมูลมาว่า เพราะน้องเป็นเน็ตไอดอล ทุกคนเลยคิดว่าน้องกำลังทำคอนเทนต์ เพื่อสร้างยอดวิว จึงไม่ได้เข้าช่วย ซึ่งทำให้ทางครอบครัวเจ็บกับคำพูดนี้มาก

ป้าอรบอกว่า ตั้งแต่เกิดเรื่อง ไม่เคยรู้จัก ผอ.คนนี้มาก่อนเลย เขาไม่ใช่ผู้บริหารโรงเรียน แต่ออกมาพูดแบบนี้ กล่าวหาว่าหลานเราเป็นเน็ตไอดอล คุณพ่อบอกว่าน้องม่อนเป็นเด็กขี้อาย เฟซบุ๊กยังไม่เล่นด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าเขาไปฟังจากที่ไหนมา แล้วไปพูดแบบนี้ให้คนเข้าใจลูกเราผิดๆ แต่สุดท้ายตัว ผอ.คนนี้ส่งพวงหรีดมา แล้วมาขอโทษกับครอบครัวเป็นการส่วนตัวที่ไปพูดแบบนั้น เวลาเขาพูด เขาพูดให้สังคมฟัง ถึงเวลาขอโทษ เขามาพูดกับเราแค่นี้ มันใช่ไหม

ขณะที่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า เรื่องนี้ทางกระทรวงต้องติดตามเรื่องให้ไม่ทิ้งสักประเด็น โดยเฉพาะในกรณีของ ผอ.สำนักงานอาชีวศึกษา ที่ไปให้สัมภาษณ์แบบนั้น ก็ต้องทำรายงานมา ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่พูดไป

นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการยังเห็นด้วยกับทางครอบครัว ในกรณีที่บอกว่าไม่ต้องการให้มีกิจกรรมทางน้ำ เวลาพาเด็กไปเข้าค่าย หรือทำกิจกรรมอะไรแบบนี้อีกแล้ว เพราะปัญหาเด็กจมน้ำเกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่าจะเน้นย้ำสักเท่าไรก็ยังแก้ไม่หาย หลังจากนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการจะต้องไปดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มงวดมากขึ้น

ขอบคุณรายการโหนกระแส