เพราะที่ผ่านมา “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ได้เดินสายทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามคำปฏิญาณตนในวันเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ว่าจะทำงานแบบไม่มีเหน็ดไม่มีเหนื่อย เรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่า… เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

แต่ผลงานที่ว่า…อาจโดนใจ!! หรือไม่โดนใจ!! ก็ขึ้นอยู่กับว่า…ใคร? ที่เป็นผู้รับประโยชน์ โดนใจก็ปรบมือให้ ไม่โดนใจ ก็ก่นด่า เป็นเรื่องธรรมดาของชาวโลกอยู่แล้ว ว่าแต่ว่า…เมื่อหลุดพ้น 60 วันไปแล้วนี่สิ อะไร? อะไร? ที่เคยให้สัญญาไว้กับประชาชน จะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน? ก็ต้องจับตา เพราะเพียงแค่ 2 เดือนที่ผ่านมา อาจทำอะไรได้ไม่มากนัก

อย่างโครงการหลัก!! โครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ที่เวลานี้กำลังถูกแปรเปลี่ยน!! ด้วยเหตุผลของฝ่ายการเมือง ที่รัฐบาลจะต้องฝ่าด่าน ทั้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งความเห็นของ 2 สภา ทั้ง สส. และ สว. ทั้งความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ ในการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเงินดิจิทัลฯ ที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า… สุดท้ายแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร? จะเดินหน้าต่อ หรือไปต่อไม่ได้

ณ เวลานี้ มีมุมมองที่สะท้อนออกมาว่า การที่รัฐบาล “เศรษฐา 1” เลือกใช้วิธีนี้ ก็เป็นเพราะต้องการ “คว่ำ” โครงการนี้ เพราะจนปัญญาที่จะหาเงินมาดำเนินการ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาชน สุดท้ายนี่…คือทางออกเดียวที่ดีที่สุด และยังเป็นทางออกแบบ “พระเอก” อีกต่างหาก

สารพัดสารเพคำถาม ความสงสัย ความไม่แน่ใจ ที่พรั่งพรูกันออกมา ทำให้บรรดา “กุนซือ” จากพรรคเพื่อไทย ต้องออกมาประสานเสียงชี้แจงที่ไป ที่มา เหตุผล การดำเนินการ พร้อมการันตี การเดินหน้าต่อตามหนทางที่มีอยู่ซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยทั้งประเทศ แต่…คงยังไม่มีใครบอกได้ว่า สุดท้าย!! โครงการนี้จะรอดหรือไม่รอด!! ก็คงต้องรอดูกันต่อไป ว่าโครงการ “เรือธง” ของรัฐบาล ไปถึงดวงดาวได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าไปได้ ก็ถือว่าท้าพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลกันทีเดียวว่าในช่วง 4 ปี (ที่คาดหวังไว้) จะสามารถชดใช้หนี้ได้หมดตามที่ประกาศไว้หรือไม่?

ที่สำคัญ!! โครงการนี้ยังสามารถ “กระชาก” เศรษฐกิจ ได้มากน้อยเพียงใด เป้าหมายที่รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ตั้งความหวังไว้ว่าจะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตให้ได้ปีละ 5% จะเป็นความจริงหรือไม่ ตรงนี้!! ต้องให้เวลา เป็นเครื่องพิสูจน์!!

จับตาล้างหนี้ทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน นายกฯเศรษฐา ยังประกาศข้ามทวีป ที่จะเปิดเวทีที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในต้นเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อประกาศ “ล้างหนี้” ทั่วประเทศ พร้อมกับสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เร่งประสานงานกับระดับพื้นที่ เข้ากวาดล้างบรรดาเจ้าหนี้นอกระบบแบบเจาะลึกถึงหมู่บ้านกันทีเดียว เพราะเป็นปัญหาที่ประชาชนต้องการให้แก้ด่วน

เรื่องนี้!! ถือเป็นงานใหญ่ ที่รัฐบาลต้องเดินหน้าแก้ไข ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย เพราะปัจจุบันคนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 91% มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มต้นเฉพาะในส่วนของหนี้เกษตรกร โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. พักหนี้ให้เป็นเวลา 3 ปี โดยขณะนี้มีเกษตรกรได้เข้าร่วมแล้วประมาณ 1 ล้านคนเศษ แต่!!..สิ่งที่น่าหนักใจกว่านั้น คือ ลูกหนี้ที่เป็นชาวบ้านรายย่อย ลูกหนี้จากโควิด ลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอี ที่กำลังผิดนัดชำระ อาการร่อแร่ รัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร เพราะลูกหนี้กลุ่มนี้ มีทรงที่กำลังจะตกชั้นกลายมาเป็นหนี้เสียอยู่รอมร่อ ถ้าดูแลได้ไม่ดี ลูกหนี้กลุ่มนี้!! จะไหลมาเป็นหนี้เสีย โดยมีการคาดการณ์อาจทำให้หนี้เสียในระบบพุ่งเป็น 11-12% ใกล้เคียงช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งทีเดียว 

ขณะที่นักวิชาการภาคการเงิน ก็เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเร็ว ซึ่งในเวลานี้แม้รัฐบาลมีนโยบายระยะสั้น เช่น ลดค่าครองชีพประชาชน ค่าไฟค่าน้ำมัน การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดคือการดูแลหนี้ครัวเรือน ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. ได้พยายามเร่งแก้ไขมาแล้ว และจะเริ่มทำในปี 67 คือการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง การให้สินเชื่อเข้าถึงกับคนที่ต้องการเงิน และควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้มีคุณภาพหนี้มากขึ้น เพื่อไม่เป็นปัญหาหนี้ในอนาคต แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าจะสำเร็จเพียงใด? 

วินัยการคลังร่อยหรอ
ปัญหาต่อมา คือเรื่องของการดูแลวินัยการคลัง และแผนการหารายได้เข้าคลังของรัฐบาล ที่ผ่านมาต้องบอกว่า 60 วันของรัฐบาล มีแต่แผนการใช้เงิน ทำนโยบายหาเสียงเป็นส่วนใหญ่ แต่แผนหารายได้กลับไม่มีการพูดถึง โดยเฉพาะในปีงบ 67 ที่รัฐบาลตั้งรายจ่ายไว้  3.48 ล้านล้านบาท ขาดดุลเกือบ 7 แสนล้านบาท เป็นเรื่องท้าทายและต้องจับตาอย่างยิ่งว่า จะทำได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะรายได้จากเนื้อภาษี ที่ยังคงถูกแทะเล็มจากมาตรการของรัฐอย่างต่อเนื่อง อย่างการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เบนซิน ทำให้กรมสรรพสามิต เก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายไปหลายหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่นักวิชาการ และสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ จับตามองอยู่ คือการดูแลกรอบวินัยการเงินการคลัง หลังจากพังไปแล้วหลายครั้ง รัฐบาลมีแผนกลับเข้าสู่กรอบวินัยการคลังปกติได้เมื่อใด เพราะนับวันมีแต่ยิ่งเพิ่มภาระทางการคลังไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 62% หรือเงินมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ทะลุเพดานเกิน 30% หากรัฐบาลดูแลไม่ได้อาจกระทบต่อเครดิตประเทศ และกลายเป็นภาระต้นทุนทางการเงินการกู้ยืมของประเทศสูงขึ้น


หวังฟื้นส่งออกดันจีดีพี
หันมาที่การฟื้นฟูรายได้ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออก ที่เรื่องนี้…กระทรวงพาณิชย์ ต้องรับบทหนักอยู่ไม่น้อย ทั้งภาคการค้าที่ต้องนำพาส่งออกกลับมาเป็นบวกให้ได้ในปีหน้า  เนื่องจากเป็นฟันเฟืองหลัก 70% ของจีดีพีประเทศ แต่ในโลกการค้ายุคนี้ต้องบอกไม่ง่าย เพราะมีปัจจัยเสี่ยงกระทบมากเหลือเกิน โดยเฉพาะปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ และปัญหาเงินเฟ้อดอกเบี้ย ที่คอยกดหัวให้ภาคการค้าโลกชะลอตัว จึงเป็นโจทย์ให้กระทรวงพาณิชย์ว่าจะปั้นอย่างไรให้ส่งออกกลับมาเป็นพระเอกได้อีกครั้ง  นอกจากนี้ ต้องตามเรื่องเจรจาเอฟทีเอหลายกรอบให้เสร็จตามแผน เช่น ไทย-ยูเออี, ไทย-ศรีลังกา หรือไทย-เอฟตา หากทำเสร็จ!! ก็ช่วย “เพิ่มเสน่ห์” ทางการค้า การลงทุนให้กับประเทศได้อีกมาก

แก้ปากท้องค่าครองชีพ
ขณะที่เรื่องในประเทศ ต้องเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพ ปากท้องของประชาชน  เพราะลำพังแค่การจัดโปรโมชั่นชั่วครั้งชั่วคราวคงไม่พอ อย่างสินค้าที่ต้องเพิ่งการนำเข้าจากตลาดโลก ก็ยังผันผวนอยู่ แม้แต่สินค้าที่ไทยผลิตได้เอง เช่น น้ำตาล ข้าวสาร ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตสินค้าอีกหลายชนิด ก็ขยับขึ้นราคา มาแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาน้ำตาลทราย ที่รัฐบาลต้องยอมให้ปรับขึ้นอีก กก.ละ 2 บาท เพราะต้นทุนในการผลิตปรับเพิ่มขึ้นจริง ๆ ก็ตาม แต่การขึ้นราคาน้ำตาลทราย ครั้งนี้ ก็หนีไม่พ้นที่สินค้าอื่นที่ใช้น้ำตาลทรายจำนวนมากมาผลิต  ก็ต้องขยับราคาตามขึ้นไปด้วย 

ไม่นับรวมปัญหาภาคการเกษตร ที่แม้วันนี้พืชหลักอย่างข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน จะมีราคาดี จนเกษตรกรยืนได้ด้วยลำแข้งได้เอง แต่ที่น่ากังวลคือ เกษตรกรยังคงเสพติด นโยบายลด แลก แจกแถมอยู่ อาทิ โครงการไร่ละพัน แจกเงินสูงสุด 2 หมื่นบาท ที่รัฐบาลของนายเศรษฐา ก็ยอมจำนน ใส่พานให้ไปแล้วเช่นกัน ซึ่งก็กลายเป็นภาระต่องบประมาณ 56,000 ล้านบาท ต่อให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้รับหน้าเสื่อจ่ายไปก่อนก็ตาม 


ดึงเที่ยวไทยปลอดภัย
เมื่อพูดถึงการหารายได้ไม่เพียงแค่เรื่องส่งออกเท่านั้น ในเรื่องของภาคบริการอย่างการท่องเที่ยว ก็เป็นภาคการหารายได้เข้าประเทศที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการส่งออกสินค้า เป้าหมายสำคัญของรัฐบาล ไม่เน้นเรื่องของจำนวนมาก ๆ เหมือนเก่าก่อน เพราะทำให้ทรัพยากรเสียหาย แต่เน้นไปในเรื่องของนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ใช้จ่ายหนัก ๆ เพื่อให้ทรัพยากรของไทยไม่ช้ำจนเกินไป แต่ก็ต้องยอมรับว่า นักท่องเที่ยวจากจีน ก็ยังคงเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญไม่น้อย แม้ที่ผ่านมามีหลายเหตุหลายปัจจัยที่กระเทือนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว แต่รัฐบาลก็ได้พยายามแก้ไขในทุกด้าน รวมไปถึงการใช้นโยบายดึงดูด แบบนโยบายฟรี-วีซ่า แบบให้เดินทางมาไทยโดยไม่ต้องขอวีซ่า ในหลาย ๆ ประเทศ ที่ก็ต้องมารอดูว่าผลลัพธ์จะสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด รวมไปถึงการออกมาตรการดึงดูดต่าง ๆ หรือแม้แต่การร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเชื่อว่ามาเมืองไทยแล้ว “ปลอดภัย”

ปรับโครงสร้างพลังงาน
หันมาที่เรื่องของพลังงานที่ถือเป็นโครงการแรก ๆ สไตล์“ควิก-วิน” ที่รัฐบาลได้อวดฝีมือ ลดภาระให้กับประชาชนคนไทย แต่การลดราคาพลังงาน แบบนำเอาเงินภาษีไปโปะ โดยไม่ได้เกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้างพลังงานอย่างแท้จริง สุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่ต้องเป็นภาระต่องบประมาณเช่นกัน ทั้งในเรื่องของราคาน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอลล์ หรือแม้แต่ราคาค่าไฟ

จากวันนั้นจนถึงวันนี้…กระบวนการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ยังไปไม่ถึงไหน ล่าสุด!! เจ้ากระทรวงพลังงาน “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ถึงกับควันออกหู หลังค่ายน้ำมันปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินติด ๆ ทั้งที่รัฐบาลเพิ่งประกาศลดราคาน้ำมันเบนซินไปไม่นาน จนออกมากระแทกถึงการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมไปถึงการยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเกษตรกร และชาวประมง เพื่อจัดหาน้ำมันราคาถูกให้กลุ่มเกษตรกรใช้ คล้ายน้ำมันเขียวของชาวประมงว่าจะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งประเด็นสำคัญหากทำแล้ว จะป้องกันโกงนำไปใช้ผิดประเภทได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้…เอาแค่น้ำมันเขียวกลางทะเล รัฐก็ต้องปวดหัวกับการลักลอบนำเข้าน้ำมันอยู่แล้ว ขณะเดียวกันยังมีอีกสารพันปัญหาที่คั่งค้างมาจากรัฐบาลก่อน ๆ ทั้งกรณีปมพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ใหญ่ในการสำรวจผลิตปิโตรเลียม ช่วยลดนำเข้าแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ ทั้งการทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี ฉบับใหม่ที่ผ่านมานานแล้วก็ยังไม่เสร็จสักที

แก้ปัญหาน้ำตาลขม
อย่างที่เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้…ปัญหาเรื่องของราคาน้ำตาลทราย แม้สุดท้ายรัฐบาลกดดันให้ขึ้นราคาเพียงแค่ 2 บาท อีก 2 บาท ที่ต้องการนำเงินมาใส่กองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่เผาอ้อย ครม.ยังค้างเติ่งไว้ก่อน เพราะเสียงคัดค้านมีรอบด้าน ว่า…ไร่อ้อยเผาอ้อยเพื่อจัดการไร่อ้อยได้เร็ว แต่ผลเสียคือตัวแปรที่ทำให้เกิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 แล้วทำไมต้องผลักไสให้ผู้บริโภคต้องมารับภาระ เหตุนี้ รมว.ปุ้ย-พิมภัทรา วิชัยกุล จากกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องเดินหน้าพิชิตศึกนี้โดยหาทางออกให้ได้ แม้ต้องของบประมาณมาดำเนินการก็ตาม 

เช่นเดียวกับความหวังความฝันกับการตั้ง “กรมฮาลาล” เพื่อยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าฮาลาลของภูมิภาค มูลค่าหลักล้านล้านบาท รวมถึงการแก้ปัญหาเหมืองแร่โพแทส ที่นายกฯ เศรษฐาสั่งให้เร่งรัดเดินหน้าโดยเร็ว ซึ่งล่าสุดกรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) แจ้งผู้ผลิตเหมืองแร่โพแทสทั้ง3 ราย ชี้แจงแผนการลงทุนมาภายใน 3 เดือนนับจากนี้ คาดว่ามีความชัดเจนช่วงต้นปี 67 พร้อมกันนี้คือการเดินหน้าอุตสาหกรรมสีเขียว ก้าวสู่เนตซีโร่ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม แก้ปัญหาการลักลอบการทิ้งกากอุตสาหกรรมให้เบ็ดเสร็จ 

ลุยปราบภัยออนไลน์
ว่ากันในเรื่องของปากท้อง กันไปแล้ว มาดูในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของ “ภัยออนไลน์” ที่เวลานี้กลายเป็น “มหาภัย” ที่ภาครัฐทุกหน่วยงานปราบเท่าใดก็ไม่หมดเสียที โดยเฉพาะผู้ดูแลโดยตรงอย่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แม้มีการโชว์ผลงานแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือศูนย์เอโอซี 1441 เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็ต้องมาดูว่าจะไล่จับโจรออนไลน์ได้ทันหรือไม่เพราะโจรยุคนี้ฉลาด และมีกลโกงใหม่มาทุกวัน เช่นเดียวกับเรื่องของการนำดิจิทัลมายกระดับคนไทยโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ที่ได้ตีฆ้องร้องป่าวเปิดตัวกันไปแล้วกับ โครงการ  1  ตำบล  1 ดิจิทัล “ชุมชนโดรนใจ” นำโดรนมาใช้เพื่อการเกษตรใน 500 ชุมชน 4 ล้านไร่ หลังจากที่ผ่านมาเกษตรกรไทยขาดการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับผลผลิต ในภาคการเกษตร และยังเป็นการส่งเสริมสตาร์ทอัพของไทย ที่พัฒนาเรื่องโดรนด้วย ก็ต้องดูว่าภายใน 1 ปีนี้ จะได้ตามเป้าหมายเพียงใด?

เหล่านี้!! ล้วนเป็นการบ้านชุดใหญ่ที่ยังรอรัฐบาล “เศรษฐา 1” เข้ามาสะสาง เพราะทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยยังป่วยอยู่ยังต้องการได้รับการรักษา หากไม่ทันการณ์ ความตั้งใจในการทำงานแบบไม่เหน็ดเหนื่อยอาจสูญเปล่า!!.

…………………….
ทีมเศรษฐกิจ