ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือน วงเงิน 56,321.07 ล้านบาท โดยสนับสนุนเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566-30 ก.ย. 2567

ทั้งนี้ รัฐบาลเร่งรัดให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จ่ายเงินเกษตรกรเร็วสุด ล่าสุด ธ.ก.ส.ประชุมคณะกรรมการในวันที่ 23 พ.ย.2566 เพื่อสรุปการจ่ายเงินให้ผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท เคาะจ่ายแล้วโอนเงินตรงเข้าบัญชีเกษตรกร เป็นรายภูมิภาค แบ่งเป็น 5 รอบ เริ่มตั้งแต่ 28 พ.ย.2566 นี้ เป็นต้นไป ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่านบริการ BAAC Connect ทาง Line: BAAC Family และเว็บไซต์ https://chongkho.inbaac.com

รายละเอียดการโอนเงินให้ชาวนา 1,000 บาท ดังนี้
-ครั้งที่ 1 วันที่ 28 พ.ย. 2566 วงเงิน 7,989 ล้านบาท รวม 6.2 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 77 จังหวัด
-ครั้งที่ 2 วันที่ 29 พ.ย. 2566 วงเงิน 8,408 ล้านบาท รวม 7.4 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด
-ครั้งที่ 3 วันที่ 30 พ.ย. 2566 วงเงิน 9,480 ล้านบาท รวม 8.7 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 10 จังหวัด
-ครั้งที่ 4 วันที่ 1 ธ.ค. 2566 วงเงิน 9,277 ล้านบาท รวม 7.7 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 จังหวัด
-ครั้งที่ 5 วันที่ 2 ธ.ค. 2566 วงเงิน 9,282 ล้านบาท รวม 8.2 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 จังหวัด

สรุปเงื่อนไขจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท
-รับเงินโอนช่วยเหลือ 1,000 บาท/ไร่
-ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือน
-ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรเป็นผู้ปลูกข้าวปี 2566/2567 กับกรมส่งเสริมการเกษตร
-จ่ายเงินให้ชาวนาผ่านบัญชีเกษตรกรโดย ธ.ก.ส.
-เริ่มจ่ายวันแรก 28 พ.ย.2566

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2566 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงินงบประมาณจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สำหรับกรอบวงเงินที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยคำนึงถึงขอบเขตที่รัฐสามารถรับภาระได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากข้อจำกัดของกรอบวงเงินตามมาตรา 28 ดังกล่าว

โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ และส่งรายชื่อเกษตรกรให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งวงเงินงบประมาณ 56,321.07 ล้านบาท จำแนกเป็น (1) งบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกร แหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. วงเงิน 54,336.14 ล้านบาท และ (2) ค่าใช้จ่ายดำเนินการ ธ.ก.ส. วงเงิน 1,984.93 ล้านบาท

(ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล, ธ.ก.ส., เพจไทยคู่ฟ้า)