เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 27 พ.ย. ที่ สำนักงานใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท. นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. จัดการแถลงข่าว ทอท. พร้อมรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในช่วงการท่องเที่ยวฤดูหนาว ยันมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไม่กระทบรายได้ของ ทอท.

นายกีรติ เปิดเผยว่า ทอท. ประมาณการปริมาณผู้โดยสารช่วงการท่องเที่ยวฤดูหนาว ปี 67 ช่วงเดือน พ.ย. 66-มี.ค. 67 ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยนสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ จะมีผู้โดยสารรวมประมาณ 51.11 ล้านคน เพิ่มขึ้น 20.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 21.57 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.75% และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 29.54 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.96% โดยในปีงบ 67 (เดือน ต.ค. 66-ก.ย. 67) คาดว่า ปริมาณผู้โดยสารเดินทางผ่านท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ประมาณ 119.78 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.71% แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 49.48 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.2% และผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 70.30 ล้านคน เพิ่มขึ้น 30.41%

ทั้งนี้ จากการประมาณการผู้โดยสารดังกล่าว สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงของเดือน พ.ย. 66 โดยมีผู้โดยสารรวม 9.53 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 4 ล้านคน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 5.53 ล้านคน ซึ่งแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนโดยสาร โดยเฉพาะผู้โดยสารระหว่างประเทศ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น วีซ่าฟรี กระตุ้นให้มีการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่มีมาตรการวีซ่าฟรี เป็นผู้โดยสารสัญชาติจีน เฉลี่ยวันละ 16,800 คน เพิ่มขึ้น 27.3% เมื่อเทียบกับก่อนมีมาตรการ ชาวคาซัคสถาน เฉลี่ยวันละ 560 คน เพิ่มขึ้น 143.5% ชาวอินเดีย เฉลี่ยวันละ 6,000 คน เพิ่มขึ้น 17.6% และชาวไต้หวัน เฉลี่ยวันละ 4,500 คน เพิ่มขึ้น 18.4% นอกจากนี้ปริมาณผู้โดยสารรายสัญชาติ ณ ท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท. เมื่อปีงบ 66 (เดือน ต.ค. 65-ก.ย. 66) พบว่าผู้โดยสารชาวจีนยังคงมีจำนวนสูงสุดเมื่อเทียบกับสัญชาติอื่น โดยมีจำนวน 5.33 ล้านคน รองลงมาคือ สัญชาติอินเดีย 3.26 ล้านคน เกาหลีใต้ 3.07 ล้านคน มาเลเซีย 2.21 ล้านคน และรัสเซีย 2.2 ล้านคน

นายกีรติ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 67 เป็นต้นไป ทอท. จะปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge: PSC) สําหรับผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ โดยปรับจาก 700 บาทต่อคน เป็น 730 บาทต่อคน และค่า PSC สําหรับผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ ปรับจาก 100 บาทต่อคน เป็น 130 บาทต่อคน นั้น ทอท. ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่า PSC มาเป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว ครั้งล่าสุดเมื่อเปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ในปี 2549 โดยรายได้จากการจัดเก็บค่า PSC กฎหมายได้กําหนดให้ผู้บริหารท่าอากาศยานนําไปใช้ในการพัฒนาท่าอากาศยาน จัดหาและปรับปรุงสิ่งอํานวยความสะดวกต่างๆ และการบํารุงรักษาด้านความปลอดภัยท่าอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานของท่าอากาศยานในระดับสากล

โดย ทอท. ได้วางแผนลงทุนการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการให้บริการในท่าอากาศยานทุกแห่ง เพื่อประโยชน์ต่อผู้โดยสาร เป็นวงเงินกว่า 16,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี 65-85 อาทิ ระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง ระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ และ บริการรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่รวดเร็ว ลดเวลารอคิวสำหรับบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทางที่จะปรับปรุงพื้นที่ตรวจลงตราคนเข้าเมือง (ตม.) ขาออก ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร ทสภ. โดยจะติดตั้งเครื่อง Automated Border Control (ABC) มาใช้แทนการตรวจลงตราโดยเจ้าพนักงาน เช่นเดียวกับสนามบินชั้นนําทั่วโลก ทําให้สามารถปรับปรุงพื้นที่เคาน์เตอร์ ตม.เดิมเป็นพื้นที่จุดตรวจค้นผู้โดยสารเพิ่มได้อีก

“ขอยืนยันว่าค่า PSC ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้โดยสารอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นการย้ายหมวดการจัดเก็บเท่านั้น จากค่าบริการเคาน์เตอร์เช็กอินของสายการบินที่เรียกเก็บรวมในค่าตั๋วโดยสารอยู่แล้วมาเป็นค่า PSCแทน ซึ่งยังรวมอยู่ในค่าตั๋วโดยสาร ไม่ได้กระทบต่อรายจ่ายของผู้โดยสารแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ค่า PSC ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ ทอท. มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการเพิ่มตามปริมาณผู้โดยสาร เช่น ปี 67 คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการสนามบิน ทอท. จำนวน 120 ล้านคน จะทำให้ ทอท. มีรายได้เพิ่มประมาณ 3,600 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น นายกีรติกล่าว

นายกีรติ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าที่ ทอท. จะเข้าไปรับผิดชอบดูแล และบริหารจัดการท่าอากาศยาน 3 แห่ง ได้แก่ อากาศยานอุดรธานี, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ตามนโยบายรัฐบาลนั้น อยู่ในกระบวนการที่ ทย. ขอใบรับรองสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้กับ 3 สนามบินดังกล่าวให้เรียบร้อย ก่อนให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง ขณะนี้รัฐบาลเร่งรัดอยู่ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่ ทย. ในการขอใบรับรองสนามบิน ซึ่ง ทอท. พร้อมแล้ว รอ ทย. อย่างเดียว

ส่วนสถานะคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานบอร์ด ทอท. เป็นประธานนั้น ขณะนี้คณะกรรมการบอร์ด มีอยู่ 8 คน จากที่มีบอร์ดทั้งหมด 15 คน และได้ลาออกแล้ว 7 คน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการสรรหาได้เสนอรายชื่อ บอร์ด ทอท. ใหม่ ที่จะมาแทนบุคคลที่ลาออกนั้น โดยได้เสนอไปที่ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้มีการตอบกลับมาแล้ว คาดว่าในการประชุมบอร์ด ทอท. ในวันที่ 28 พ.ย. 66 จะมีการเสนอแต่งตั้งรายชื่อกรรมการบอร์ด ทอท. ที่สรรหามาใหม่เพิ่มเติม โดย บอร์ด ทอท. ขั้นต่ำจะต้องมี 8 คน

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับในปีงบประมาณ 66 ทอท. มีกำไรอยู่ที่ 8,790.87 ล้านบาท ทำให้ ทอท. กลับมาจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานในปีงบฯ 66 อยู่ที่ 7 เดือน ซึ่งยังน้อยกว่าในปีงบฯ 61 จ่ายโบนัสอยู่ที่ 7.75 เดือน และโบนัสปีงบฯ 62 จ่ายอยู่ที่ 7.25 เดือน หลังจากนั้น ทอท. เว้นไม่จ่ายโบนัสมา 3 ปี (ปี 63-65) ช่วงโควิด-19 ที่มีผลกระทบอุตสาหกรรมการบิน

ด้าน นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า จากการเก็บค่า PSC ของ ทอท. มองว่า ผู้โดยสารจะได้รับประโยชน์มากขึ้น และจะได้รับบริการที่สะดวกขึ้น ทั้งนี้ กพท. อยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาทบทวนแนวทางการจัดเก็บค่า PSC ใหม่ทั้งระบบ เนื่องจากค่า PSC มีการเรียกเก็บทุกสนามบินทั่วโลก ซึ่งมีราคาที่สูงและต่ำกว่าที่ไทยดำเนินการจัดเก็บอยู่ ดังนั้นจึงต้องไปพิจารณาอัตราการจัดเก็บที่เหมาะสม เพราะบางรายการไม่ได้เป็นต้นทุนแล้ว หรือหลายรายการเป็นต้นทุนใหม่ ส่วนจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง สามารถเป็นไปได้ทั้งนั้น ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาและดำเนินการตามกระบวนการ เพื่อเสนอคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เสนอ รมว.คมนาคม เห็นชอบ ในระยะเวลา 1 ปี หรือช่วงปลายปี 67 ส่วนการเก็บค่า PSC ในกฎระเบียบและเชิงนโยบาย เป็นการผลักภาระผู้โดยสารหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาระบบเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งผู้ให้บริการต้องมีต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนการเดินทางต้องมาที่ผู้ใช้บริการ ซึ่งเรื่องนี้ได้ดำเนินการตามกฎหมายและกฎระเบียบที่ระบุไว้เรียบร้อย และสังคมสามารถตรวจสอบได้