สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ว่า ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยโมนาระบุว่า การศึกษาดังกล่าวไม่ได้พิสูจน์ว่า การนอนไม่เป็นเวลาทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม แต่มุ่งแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของสองสิ่งนี้ โดยพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างความสม่ำเสมอ ของการนอนหลับกับความเสี่ยงเผชิญภาวะสมองเสื่อมในอนาคต และศึกษาปริมาตรสมองจากการสแกนสมองด้วย


นักวิจัยใช้ข้อมูลจากยูเค ไบโอแบงก์ เพื่อศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 88,094 คน อายุเฉลี่ย 62 ปี โดยใช้อุปกรณ์สวมใส่ข้อมือตรวจวัดดัชนีความสม่ำเสมอการนอนหลับ และติดตามผลเป็นเวลาเฉลี่ย 7.2 ปี ซึ่งพบว่าผู้เข้าร่วม 480 คน มีภาวะสมองเสื่อม และผู้มีรูปแบบการนอนหลับไม่เป็นเวลามากที่สุด มีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมสูงที่สุด


รศ.แมทธิว เพส จากคณะจิตวิทยา และสถาบันเทิร์นเนอร์เพื่อสุขภาพสมองและสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัยโมนาช กล่าวว่า ผลการวิจัยเน้นย้ำความสำคัญของการนอนหลับที่สม่ำเสมอ


ทั้งนี้ การนอนหลับที่ไม่เป็นเวลา อาจรบกวนนาฬิกาชีวภาพภายในของคนเรา ซึ่งควบคุมจังหวะเวลาการทำงานของกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกายตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ การเผาผลาญน้ำตาลในเลือดและไขมัน และการควบคุมความดันโลหิต


การหยุดชะงักของจังหวะเหล่านี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิต เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง และโรคอ้วน เมื่อรวมกันแล้วปัจจัยเหล่านี้เชื่อมโยงกับความเสียหายของหลอดเลือด และการอักเสบในสมอง ซึ่งอาจนำไปสู่การเสื่อมของระบบประสาท และภาวะสมองเสื่อม


ด้าน ดร.สเตฟานี เยียลลูรู ผู้เชี่ยวชาญจากคณะจิตวิทยาและสถาบันเทิร์นเนอร์ กล่าวว่า คนเราต้องให้ความสำคัญกับการนอนหลับเป็นเวลาและสุขภาพมากขึ้น หลายคนอาจยังไม่ทราบความเชื่อมโยงของสองสิ่งนี้ เนื่องจากงานวิจัยการนอนหลับส่วนใหญ่ มักมุ่งเน้นไปที่ การตรวจสอบระยะเวลาการนอนหลับ และผลลัพธ์ด้านสุขภาพ มากกว่ารูปแบบการนอนหลับที่สม่ำเสมอของผู้คน


อนึ่ง ผลการศึกษาดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ในวารสารประสาทวิทยา ซึ่งเป็นวารสารทางการของสถาบันประสาทวิทยาอเมริกัน.

ข้อมูล : XINHUA

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES