พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ รอง ผอ.วิทยาลัยสงฆ์ (วส.) พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) หรือ มจร วัดไร่ขิง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ศ.ดร.พระมหาบุญเลิศ ช่วยธานี” ว่า พรสวรรค์ที่ถูกทำให้เป็นผลประโยชน์ พูดถึงเรื่องความเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ใครๆ ก็เชื่อในอะไรก็ได้ ความเชื่อของคนเรามีได้ตั้งแต่สวรรค์ชั้นฟ้ายันบาดาลปัญหาใหญ่ คือคนที่เชื่อ แบบไม่คิด ไม่ใช้สติ ปัญญามืดบอด พาลพาให้ถูกหลอกหมดเนื้อหมดตัวมาก็เยอะ อันนี้หาใช่เป็นความเชื่อเรื่องศาสนาเท่านั้น แต่รวมไปถึงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีด้วย ที่สงสัยคือ สาวกทั้งหลายที่ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ ไม่มีเรื่องเก็บเงินเก็บทอง มาปฏิบัติด้วยใจ คนที่จัดก็จัดด้วยใจ ถามจริงๆ โรงแรมให้จัดฟรีใช่มั้ย ข้าวกินฟรีใช่มั้ย เครื่องเสียง เบรก ห้องพักฟรีหมดใช่มั้ย มันต้องใช้เงินทั้งนั้น แล้วมีนายทุนที่ไหนมาสนับสนุน โรงแรมไม่ใช่โคนต้นไม้ มันมีค่าใช้จ่าย ไม่เก็บแล้วจะเอาจากไหน

ที่เริ่มแบบนี้ก็อนุสนธิจากเรื่องเด็ก 8 ขวบที่โด่งดัง และยังอยู่บนหน้าสื่อในปัจจุบัน มีการอ้างถึงชาติกำเนิด การบรรลุมรรคผล และการอวตารมาช่วยโลกมนุษย์ ไม่ต่างจากขบถผีบุญในอดีต ที่กำเนิดจากความอ่อนแอทางจิตใจของมนุษย์ แล้วมาทำหน้าที่เป็นเหมือนแพนำหมู่สัตว์ข้ามฝั่งไปยังโลกพระศรีอาริย์ เวลามีคนซักไซ้ไล่เลียงผู้เป็นแม่ถึงคุณสมบัติที่อุปโลกน์ปั้นเด็กน้อยขึ้นมา ก็จะได้รับคำตอบว่า “ก็เราไปไม่ถึงขั้นนั้น จะไปตัดสินเขาได้อย่างไร” คำตอบแบบนี้ถือว่าฉลาดมาก เพราะเป็นคำตอบปิดปากให้พูดต่อได้ยาก พูดง่ายๆ คือ คนเชื่อก็เชื่อไป คนไม่เชื่อก็ไม่ต้องเชื่อ เป็นคำตอบที่รักษาคนที่เชื่อให้เชื่อและอยู่ร่วมเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องอจินไตย แต่อจินไตยใช้กับของจริง แต่ที่ไม่จริงในทางพระพุทธศาสนามีเกณฑ์วินิจฉัยว่าที่อวดอ้างกันอยู่นั้นแท้จริงเป็นประการใด

เรื่องพรสวรรค์แบบฟ้าบันดาลของเด็กที่มีอัจฉริยทางธรรมก็พอมีอยู่บ้าง แต่ก็หนีไม่พ้นต้องผสมพรแสวง คือเด็กคนนั้นต้องมีใจโน้มเอียงไปในทางปฏิบัติด้วย ระหว่างความมีพรสวรรค์ที่เรียกว่าเด็กพิเศษ กับเด็กผิดปกติต่างกันแค่เส้นยาแดง แต่ผลข้างเคียงรุนแรง ถ้าเพื่อนๆ น้อง เขารู้สึกว่าน้องเป็นเด็กพิเศษ น้องจะมีความสุขที่ได้อยู่กับเพื่อนที่ให้เกียรติคนพิเศษของเขา แต่ถ้าเพื่อนๆ รู้สึกว่าน้องเป็นเด็กผิดปกติ น้องจะเหลือเพื่อนที่จะเติบโต เล่นกันไปได้กี่คน อยากให้ผู้ใหญ่ช่วยรักษาความมีอนาคตของเด็กคนนี้ให้ดีด้วย

แน่นอนหากเราเปรียบเทียบน้อง 8 ขวบ กับเด็กอีกคนที่อายุรุ่นนี้แต่มีพรสวรรค์ในการใช้ปืน วิธีสังหารคน และสามารถสังหารคนได้เพียงชั่วพริบตา เราก็คงภาวนาว่าขอให้มีน้อง 8 ขวบมากที่สุดเท่าที่มากได้ เพราะยังไงเขาก็โน้มเอียงมาในทางที่ดี ไม่ใช่ทางแห่งอบาย น้องมีความพิเศษในทางธรรม อายุแค่ 8 ขวบ เมื่อเทียบกับเด็กทั่วไปพูดธรรมะบางหัวข้อได้ดีกว่าการท่องจำอยู่บ้าง แต่กับเด็กที่คิดออกแบบจรวด หรือคิดสูตรคำนวณทางเคมีได้ในขณะ 8 ขวบคงไม่ต่างกัน นั่นหมายความว่า น้องๆ เหล่านี้มีความพิเศษที่ต่างกันไป วิธีการจัดการพรสวรรค์ของเด็ก คือการเค้นให้ออกมาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่แสวงหาประโยชน์จากพรสวรรค์ของเขา พรสวรรค์ในวัยเด็ก ต้องทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ ให้เด็กเขาพิสูจน์ในสิ่งที่เขามีได้ ไม่ใช่ไปโอบอุ้มให้เขาถูกครอบงำด้วยความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ เพราะเขาจะตกอยู่ในหล่มของความเชื่อของตนเอง คิดว่าตนเองมีพลังพิเศษแบบซูเปอร์ฮีโร่ เขาจะกลายเป็นคนที่ไม่เคารพวินัย เพราะคิดว่าตนเองมีพลังพิเศษอยู่เหนือกฎกติกาทั้งปวง จะเป็นผลร้ายกับเขาในอนาคต

การจับพลัดจับผลูปั้นเด็กให้ดังด้วยพรสวรรค์ที่มี เป็นความตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ไม่ทราบ แต่โลกยุคนี้ ทุกคนจะถูกลากออกมาที่แจ้ง และรับการพิสูจน์โดยสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อการพิสูจน์เข้มข้นมากขึ้น ถึงตอนนั้นจะถอยกลับไปที่เดิม ก็คงช้ำเลือดช้ำหนองไม่น้อย จะเดินหน้าต่อเส้นทางนี้ก็ไม่ราบเรียบ ต้องหาทางลงที่นุ่มนวลที่สุดเอาไว้รองรับอนาคตของน้องเขาด้วย ในวัยผู้ใหญ่ของน้อง จะให้เขามีชีวิตแบบไหน ถ้าหากไม่นานเขาถูกพิสูจน์ว่า พรสวรรค์ที่มีเป็นเครื่องลวงโลก ใครคือผู้รับผิดชอบต่อนาคตของเขา แน่นอนมันคือโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ พอๆ กับโอกาสที่น้องเขาอาจจะกลายเป็นเจ้าสำนักศาสดาพยากรณ์สำนักหนึ่งที่โด่งดังมาก แต่นั่นคือการเลือกเพื่ออนาคตของน้องจริงๆ หรือไม่

ผู้ใหญ่ที่ไปกราบเด็ก 8 ขวบ เชื่อว่าท่านมีลูกมีหลาน หันกลับมาพาลูกหลานปฏิบัติธรรมแบบน้อง 8 ขวบ เผื่อจะได้เข้าใจว่าเด็กเดี๋ยวนี้มีอัจฉริยะทางธรรมได้อีกหลายคน และเผลอๆ เด็กเหล่านี้ก็มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมจนกลับมาชี้ทางสว่างให้ผู้ใหญ่ได้เข้าใจว่า ของแท้ในพุทธศาสนาไม่ได้มาจากการปั้นแต่งเรื่องขึ้น