เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง มอบหมายให้ นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายกฤษณะ สุขอนันต์ พนักงานไต่สวนระดับสูง ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และเครือข่ายภาคประชาชน ชมรมตรังต้านโกง ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างถนนเลียบคลองระบายน้ำลำเลียง 2 ฝั่ง ในพื้นที่ ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง

วงเงินงบประมาณ 105,362,243,.28 บาท วันเริ่มโครงการ 25 มิ.ย. 63 วันที่สิ้นสุดสัญญา 21 มิ.ย. 65 มีกรมชลประทานเป็นเจ้าของโครงการ มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเป็นผู้รับจ้าง โดยทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากศูนย์ CDC สำนักงาน ป.ป.ช. ว่ามีบางช่วงของถนนสายดังกล่าวเกิดถนนแตกและยุบตัว ระยะทางประมาณ 200 เมตร ประกอบกับทางเพจเฟซบุ๊ก “ชมรมตรังต้านโกง” ได้มีการโพสต์และตั้งข้อสังเกตและเฝ้าติดตามในปัญหานี้

ซึ่งเมื่อลงไปถึงจึงพบว่ามีรถแบ๊กโฮ กำลังขุดรื้อถนนที่มีการแตกและยุบตัวอยู่บางช่วง โดยอยู่ในระหว่างการตักดินขึ้นใส่รถบรรทุก 10 ล้อ ก่อนจะพบกับ นายสุพร นิลวงษ์ กำนันตำบลนาข้าวเสีย กำลังคุมงานขุดรื้อถนนอยู่ พบว่าสภาพทางกายภาพไม่มีการปูรองหินคลุก และน่าจะมีการบดอัดที่ไม่แน่นตามสมควร รวมทั้งพื้นดินล่างเป็นดินเหนียว มีสภาพพื้นถนนแต่ร้าว ชำรุด จนไม่สามารถสัญจรของรถได้ ซึ่งสภาพดังกล่าวเป็นปัญหาหลายจุด ประกอบกับไม่มีป้ายห้ามรถบรรทุกน้ำหนักเกินขับผ่าน โดยโครงการดังกล่าวทราบว่ายังอยู่ในระยะสัญญาประกัน

นายสุพร กล่าวว่า เบื้องต้นทางบริษัทฯ ผู้รับจ้าง ก็ได้เข้ามาดูแล้ว พร้อมกับได้ว่าจ้างและขอความร่วมมือกับบริษัทฯของตนเข้าซ่อมแซมบางส่วนที่มีการชำรุด เสียหาย โดยได้สั่งให้รื้อพื้นถนนและดินชั้นล่าง หรือดินเดิม และให้นำหินดำลงปูทาง เพื่อให้ดินชั้นพื้นฐานมีความแน่น และหลังจากนั้นก็ปูพื้นถนนใหม่ ระยะทางที่ต้องซ่อมแซมจะต้องสำรวจใหม่อีกครั้ง แต่เบื้องต้นต้องซ่อมแซมจุดนี้ก่อน ที่ผ่านมาทางตนในฐานะเจ้าของพื้นที่ก็ได้แจ้งบริษัทฯผู้รับจ้างไปแล้วเหมือนกันว่ามีถนนชำรุด จนช่วงเช้าวันนี้ได้ประสานตนให้ซ่อมแซม ส่วนทางเจ้าหน้าที่กลมชลประทานก็ได้เข้ามาพูดคุยกับตนแล้ว ที่ผ่านมาชาวบ้านก็สะท้อนปัญหาถนนที่ชำรุดมาแล้วเช่นกัน ส่วนปัญหาที่ทำให้ถนนพังตนมองว่าเกี่ยวกับการกัดเซาะพื้นดินใต้ผิวถนน อาจจะเพราะการบดอันที่ไม่แน่นพอสมควรก็เป็นไปได้

ด้านนายยุทธนา กล่าวว่า กรณีดังกล่าวตามรับแจ้งชาวบ้านไม่สามารถใช้สัญจรได้ จากการดูลักษณะทางกายภาพเบื้องต้นปรากฏว่าพื้นด้านล่างถนนเป็นดินเหนียว หลังจากนี้ต้องไปขอดูเอกสาร หลักฐานต่างๆจากกรมชลประทานว่ามีการออกแบบอย่างไรบ้าง ในเรื่องของพื้นทางต่างๆ และตอนนี้ได้กำชับให้ทางกลมชลประทาน ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ในการชำรุด บกพร่องอย่างไร หากยังอยู่ในระยะประกันการก่อสร้าง และในวันจันทร์ที่ 15 ม.ค. นี้ ทาง ป.ป.ช.จะเข้าไปขอเอกสารหลักฐานต่างๆจากชลประทาน และต้องดูเรื่องการออกแบบเป็นไปตามหลักวิศวกรรม วิชาช่างหรือไม่อย่างไร จะอ้างว่าไม่สามารถรองรับรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ ก็ต้องติดตั้งป้ายเตือนให้กับรถบรรทุกที่สัญจร และต้องมีผู้รับผิดชอบกับผู้กระทำผิดในการบรรทุกเกินทำให้ถนนทรุด.