สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ว่า สัตว์ประเภทไพรเมต หรือวานร เป็นสายพันธุ์ที่ทำการโคลนนิ่งได้ยากเป็นพิเศษ แต่นักวิทยาศาสตร์สามารถเอาชนะความล้มเหลวที่มีมานานหลายปีนี้ ด้วยการแทนที่เซลล์ที่ถูกโคลน ซึ่งจะกลายเป็นรก ด้วยเซลล์จากเอ็มบริโอปกติ

พวกเขาหวังว่าเทคนิคใหม่ข้างต้น จะนำไปสู่การสร้างลิงวอกที่สามารถนำไปทดลองเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ได้ ทว่าบรรดานักวิจัยภายนอกกล่าวเตือนว่า อัตราความสำเร็จของวิธีการใหม่ยังคงต่ำมาก เช่นเดียวกับการตั้งคำถามด้านจริยธรรมทั่วไป เกี่ยวกับการโคลนนิ่ง

นับตั้งแต่การโคลน “แกะดอลลี่” ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2539 โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า “การย้ายนิวเคลียสของเซลล์ร่างกายที่ไม่ใช่เซลล์สืบพันธุ์” หรือ เอสซีเอ็นที สัตว์มากกว่า 20 ชนิด ก็ถูกสร้างโดยใช้กระบวนการนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น สุนัข, แมว, สุกร และวัวควาย กระทั่งอีก 20 ปีต่อมา นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถโคลนไพรเมตตัวแรกได้สำเร็จ ด้วยการใช้เอสซีเอ็นที

ด้านนายเฉียง ซุน ผู้เขียนอาวุโสของงานวิจัยชิ้นใหม่ ที่เผยแพร่ในนิตยสาร Nature Communications กล่าวว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ทำการค้นคว้าเพื่อสาเหตุที่ทำให้ความพยายามในการโคลนลิงวอกก่อนหน้านี้ ประสบความล้มเหลว ซึ่งเขาระบุว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ รกของตัวอ่อนที่โคลนออกมามีความผิดปกติ เมื่อเทียบกับตัวอ่อนจากการปฏิสนธินอกร่างกาย

ดังนั้น นักวิจัยจึงแทนที่เซลล์ดังกล่าว ซึ่งต่อมากลายเป็นรกที่เรียกว่า “โทรโฟบลาสต์” ด้วยเซลล์จากตัวอ่อนที่แข็งแรง และไม่ถูกโคลน ส่งผลให้อัตราความสำเร็จของการโคลนนิ่งด้วยเอสซีเอ็นที เพิ่มขึ้น และนำไปสู่การกำเนิดของเรโทร

อย่างไรก็ตาม นายลูอิส มอนโตลิอู นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติสเปน ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยครั้งนี้ ชี้ว่า มีตัวอ่อนระยะแรกเริ่มเพียง 1 ใน 113 ตัวเท่านั้นที่รอดชีวิต นั่นหมายความว่า อัตราความสำเร็จอยู่ที่ต่ำกว่า 1% และมันจำเป็นต้องมีการโคลนนิ่งไพรเมตสายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนที่จะมีการโคลนมนุษย์ในอนาคต

กระนั้น เฉียงเน้นย้ำว่า การโคลนนิ่งมนุษย์ เป็นสิ่งที่ “ไม่สามารถยอมรับได้” ในทุกสถานการณ์.

เครดิตภาพ : AFP