กรณีเหตุฆาตกรรม น.ส.บัวผัน ตันสุ หรือป้ากบ อายุ 47 ปี ถูกกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 13-16 ปี 5 ราย มีลูกของนายตำรวจ ตำแหน่งรองสารวัตรฝ่ายสืบสวน สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ร่วมกันทำร้ายร่างกายถึงแก่ชีวิต ก่อนนำร่างทิ้งสระน้ำ ต่อมาตำรวจจับกุมนายปัญญา คงแสนคำ อายุ 54 ปี หรือลุงเปี๊ยก สามีผู้ตายสอบปากคำ พาชี้จุดก่อเหตุประกอบคำรับสารภาพ ก่อนฝากขังศาลส่งเข้าเรือนจำจังหวัดสระแก้ว กระทั่งพบพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิดจึงทราบว่าลุงเปี๊ยกคือแพะในคดี โดยถูกทรมาน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรง กระทั่งเมื่อวันที่ 24 ม.ค.67 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีดีเอสไอ ลงนามเอกสารด่วนที่สุดรับเป็นคดีพิเศษ ตามที่ได้มีการรายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

DSI รับสอบคดี ‘ลุงเปี๊ยก’ เป็นคดีพิเศษ เหตุอาจเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่บริเวณซอยนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง E3/3 แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า ภายหลังรับกรณีงลุงเปี๊ยกเป็นคดีพิเศษ เนื่องจาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ในมาตรา 31 ระบุไว้ว่า หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนได้มีอยู่ 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมการปกครอง และสำนักงานอัยการสูงสุด อีกทั้งเมื่อไปดูรายละเอียดในมาตรา 31 วรรคสอง ระบุไว้ว่าหากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับไว้ดำเนินการก็ให้เป็นคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวอีกว่า ดังนั้น กระบวนการที่จะต้องทำหลังจากนี้ คือ ดีเอสไอจะต้องแจ้งการรับคดีพิเศษนี้ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรับทราบและมอบหมายให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมในการตรวจสอบกับดีเอสไอ รวมถึงเราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายครั้งแรก จึงมีความเห็นว่าควรเชิญหน่วยงานทั้ง 3 หน่วยงานที่กล่าวเข้ามาร่วมประชุม และเป็นพนักงานสอบสวนร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยดีเอสไอจะเสนอเรื่องผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จากนั้นจึงจะมีการสอบสวนร่วมกันทั้ง 4 หน่วยงาน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ส่วนการที่ดีเอสไอได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบปากคำเบื้องต้นกับลุงเปี๊ยก ถึงพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ในวันเกิดเหตุนั้น ในข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานพอสมควร มีเหตุที่จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนได้ ส่วนรายละเอียดเชิงลึกขอละเว้นการเปิดเผยไว้ก่อน แม้ส่วนใหญ่จะมีการเห็นได้จากสื่อสารมวลชนอยู่แล้ว ทั้งเรื่องคลิปวิดีโอ เป็นต้น จึงยังเร็วไปที่จะปักธงว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพราะต้องดูรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ท้ายสุดจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจริง กฎหมายก็ได้ระบุไว้ว่าให้พนักงานสอบสวนแจ้งไปยัง ป.ป.ช. เพื่อรับทราบและทำการสอบสวนต่อไป

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า สำหรับการดำเนินคดี หรืออัตราโทษ หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มีทั้งโทษทางปกครองและอาญา ขึ้นอยู่กับว่าประพฤติผิดในรายมาตราใดของกฎหมายดังกล่าว เบื้องต้นมีโทษจำคุกที่ 5-15 ปี และต้องรอดูการรวบรวมข้อมูลของทางคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของตำรวจด้วย ทั้งนี้ พฤติการณ์ทางคดีการเสียชีวิตของ น.ส.บัวผัน ตันสุ และของลุงเปี๊ยกถือว่าแยกขาดจากกัน แต่สามารถใช้รายละเอียดในคดีประกอบการพิจารณาได้ หากมีความคืบหน้าอย่างไรจะรายงานให้สาธารณะได้รับทราบต่อไป และทั้ง 4 หน่วยงานจะนัดหมายประชุมในเรื่องลุงเปี๊ยกให้เร็วที่สุด.