“การคัดแยกขยะ” ยังนำสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งการ ช่วยการรีไซเคิล รู้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า …

การคัดแยกจัดการขยะถูกวิธีนับแต่ต้นทาง ยังสร้างรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ กลับคืนมา อีกทั้ง การนำกลับมาใช้ซํ้า นำกลับมาใช้ใหม่ ยังช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลง ทั้งลดการสร้างขยะชิ้นใหม่ นำแนวคิดการจัดการขยะ ลดปริมาณขยะจากบรรจุภัณฑ์ขยะพลาสติกจาก “MU Refill” มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ร่วมขับเคลื่อน zero waste สร้างการมีส่วนการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สุชาดา จันทร์วัน นักวิชาการศึกษา กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเล่าว่า MU Refill เป็นความร่วมมือระหว่างกองกิจการนักศึกษาและมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมบุคลากร นักศึกษาร่วมสร้างความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม สร้างการมีส่วนร่วมลดการสร้างขยะ โดยส่งต่อความใส่ใจสิ่งแวดล้อมต่อไปยังคนรอบข้าง

“MU Refill เป็นร้านที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นํ้ายาชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สบู่ นํ้ายาล้างจาน นํ้ายาล้างห้องนํ้า นํ้ายาถูพื้น นํ้ายาซักผ้า นํ้ายาปรับผ้านุ่ม ฯลฯ มีแนวคิดไม่สร้างขยะเพิ่ม ส่งเสริมให้ผู้ใช้นำบรรจุภัณฑ์เดิมที่มี ดังเช่น ขวดสบู่เหลว นํ้ายาปรับผ้านุ่ม นํ้ายาล้างจาน ฯลฯ นำกลับมาเติมที่ร้านเพื่อลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์

นักวิชาการศึกษา กองกิจการนักศึกษา คุณสุชาดา อธิบายเพิ่มอีกว่า MU Refill ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย บริเวณข้างอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล และหอพักนักศึกษาซึ่งผลิตภัณฑ์นํ้ายาที่นี่มีความหลากหลาย ทั้งผลิตภัณฑ์แบรนด์ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ฯลฯ เพิ่มความหลากหลายให้กับผู้ใช้ได้เลือกตามความต้องการ

จากที่กล่าวกระบวนการขั้นตอนของการรีฟิล นำบรรจุภัณฑ์เดิมกลับมาเติมผ่านตู้อัตโนมัติ โดยหน้าจอเป็นทัชสกรีนเลือกผลิตภัณฑ์ที่สนใจและขนาดที่ต้องการซึ่งที่ผ่านมาในกลุ่มของ นํ้ายาซักผ้า นํ้ายาปรับผ้านุ่ม สบู่ ฯลฯ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจ ส่วนการชำระสินค้าภายในร้านจะเป็นระบบชำระเงินอัตโนมัติผ่านคิวอาร์โค้ด

นอกจากตู้จำหน่ายนํ้ายาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ด้านในร้านยังมี โซนของใช้ที่ส่งเสริมการใช้ซํ้า ลดการสร้างขยะ อาทิ ขวดนํ้า แก้วนํ้า ปิ่นโต กล่องอาหาร ฯลฯ มี ตู้รับคืนขวดพลาสติกอัตโนมัติ Refun Machine ตั้งอยู่ด้านนอกข้างร้าน โดยนักศึกษาและบุคลากรสามารถนำขวดนํ้าพลาสติกที่ดื่มนํ้าหมดแล้ว นำมา Drop สะสมแต้ม นำคะแนนกลับมาเป็นส่วนลด
ในร้าน และยังนำไปเป็นชั่วโมงกิจกรรมของนักศึกษา โดยขวดพลาสติกจากจุดนี้จะถูกนำเข้าไปสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป เป็นการจัดการขยะนับแต่ต้นทาง ส่งต่อสู่การรีไซเคิลปลายทาง

อีกทั้งมี จุดแบ่งปัน โดยหากมีบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดปั๊ม ขวดเปล่า ฯลฯ สามารถนำมาแบ่งปันต่อและสามารถเลือกนำไปกดเติม นำไปใช้ได้ เป็นอีกส่วนหนึ่งร่วมส่งเสริมการใช้ซํ้า ไม่เพิ่มขยะชิ้นใหม่ ลดขยะจากบรรจุภัณฑ์อีกทั้งที่นี่ยังเป็นพื้นที่ฝึกฝนประสบการณ์การทำงานเสริมสร้างความเป็นผู้ประกอบการ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

ขณะที่ การนำกลับมาใช้ประโยชน์ ยังเป็นอีกส่วนสำคัญลดปัญหาขยะ โดยที่ผ่านมามหาวิทยาลัย โดยกองกายภาพและสิ่งแวดล้อมมี โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล นอกจากรณรงค์หน่วยงาน นักศึกษา บุคลากรคัดแยกขยะนำขยะรีไซเคิลที่คัดแยกจำหน่ายเข้าร่วมโครงการฯ โดยธนาคารฯ เป็นศูนย์กลางรับขยะไว้เบื้องต้น และส่งต่อขยะต่อไปยังปลายทาง ปัจจุบันขยายโครงการไปยังโรงเรียนรอบมหาวิทยาลัยเข้าร่วมเป็นเครือข่าย ร่วมลดปริมาณขยะ รักษาสิ่งแวดล้อมยั่งยืน.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ
[email protected]
ภาพ : MU Refill