จากกรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ถูกตำรวจจับกุมตัว ที่หน้าศาลอาญารัชดา ช่วงเย็นวานนี้ และได้ควบคุมตัว น.ส.ทานตะวัน แยกคุมขังที่ สน.ฉลองกรุง เพื่อป้องกันเหตุความวุ่นวาย ก่อนถูกควบคุมตัวส่งศาลอาญาฝากขัง ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ได้เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวนายนภสินธุ์ ตีราคาประกัน 3.5 หมื่นบาท โดยกำหนดเงื่อนไขก่อเหตุในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องในคดีอีก ในส่วนของ น.ส.ทานตะวัน และนายณัฐนนท์ ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์ในการกระทำของผู้ต้องหามีลักษณะไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม หากให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจะไปก่อเหตุอันตรายลักษณะเดียวกันนี้หรือประการอื่น อีกทั้งอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง ส่วนจะยื่นซ้ำหรือไม่ต้องปรึกษาผู้ต้องหาอีกครั้ง ในส่วนที่มีการยื่นคำร้องขอถอนประกัน ก็ทราบจากข่าว ซึ่งผู้ต้องหายังมีคดีอื่นในศาลอาญา เเละศาลอาญากรุงเทพใต้

ที่จริงเเล้วตะวันจะไม่ยื่นประกันในคดีนี้ด้วยซ้ำ ตนเป็นคนขอร้องว่าต้องไปเรียนหนังสือ และมีเรื่องหลายเรื่องควรจะหาทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยวิธีการอื่นดีกว่า คือตัวเขาเองเขาไม่ได้หนักใจเรื่องประกันตัว เพราะเขาเองมีความตั้งใจที่จะไม่ประกันตัวอยู่แล้ว แต่เห็นว่ามันไม่มีประโยชน์อะไร ควรจะออกมาต่อสู้คดี เพราะการที่ไปถูกขังในเรือนจำมาต่อสู้คดีไม่ได้ เพราะโอกาสที่จะไปพบปะปรึกษาหารือยาก ความจริงคดีที่ศาลไม่ให้ประกันมันคือมาตรา 116 โทษไม่เกิน 7 ปี มันไม่ได้สูงหรอกถ้าเทียบกับคดีมาตรา 112 ก็ได้ประกันตัวในชั้นศาลมาโดยตลอด ตนยังแปลกใจกับคำสั่งศาลวันนี้ว่าโทษมันแค่ 7 ปี ตนก็ไม่แน่ใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ในการไต่สวนได้ความว่า ผู้ต้องหาทั้งสองคนเป็นเด็กเป็นเยาวชนเป็นนักศึกษาเรียนหนังสืออยู่ ซึ่งไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับการสอบสวนได้ ก็คงต้องไปดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่า เหตุใดศาลถึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัว แน่นอนเป็นอำนาจของผู้พิพากษา แต่ความจริงแล้วมันมีหลักกฎหมายอยู่มันเป็นหลักนิติธรรมนิติรัฐที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่ได้กระทำผิด เรื่องนี้มันไม่ใช่ปัญหาของเด็กที่ติดคุกหรอก มันเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมว่าเราได้วินิจฉัยข้อมูลข้อกฎหมายถูกต้องตามหลักนิติธรรมหรือไม่

ในฐานะคนที่ทำงานตรงนี้ รู้สึกว่ามันค่อนข้างที่จะตรงข้ามกับสิ่งที่เรียนมา และตนไม่เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยอันนี้ ซึ่งเป็นสิทธิของตน เพราะว่าสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้

โดย น.ส.ทานตะวัน ได้ฝากข้อความเป็นลายมือถึงผู้สื่อข่าวความว่า “นี่คือคำตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้กับหนู แต่หนูยืนยันที่จะสู้ต่อไป การก้าวขาเรือนจำ เราไม่เหลืออะไรนอกจากร่างกายที่มีไว้ต่อสู้
หนูจะใช้ร่างกายและจิตวิญญาณที่เหลือเหลืออยู่สู้ต่อไป
หนูและแฟรงค์จะอดอาหารและน้ำประท้วงเพื่อ 3 ข้อเรียกร้องโดยจะไม่ยื่นประกันตัว

  1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
  2. ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก
  3. ประเทศไทยไม่ควรเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

ทานตะวัน 14 ก.พ. 67”