สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ว่า “ชาร์ลอตต์” ปลากระเบนธงเพศเมีย ซึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ “อควาเรียม แอนด์ ชาร์ก แล็บ” ในเมืองเฮนเดอร์สัน รัฐนอร์ทแคโรไลนา มานานกว่า 8 ปี เริ่มมีการเติบโตที่ผิดปกติในร่างกายของมัน เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว ซึ่งในตอนแรก เจ้าหน้าที่กังวลว่ามันอาจเป็นเนื้องอก

“โหนกของมันเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และพวกเราคิดว่า มันอาจเป็นมะเร็ง” นางคินสลีย์ โบเยตต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และผู้ดูแลชาร์ลอตต์มาเป็นเวลานาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในบางครั้ง ซีสต์ดังกล่าวสามารถเกิดในอวัยวะสืบพันธุ์ของปลากระเบน เมื่อพวกมันไม่ได้ผสมพันธุ์

ทั้งนี้ ทีมเจ้าหน้าที่ดำเนินการอัลตราซาวด์ และส่งผลการตรวจให้กับนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งอีกฝ่ายยืนยันว่า ชาร์ลอตต์มีไข่อยู่ในร่างกายจริง ๆ อีกทั้งการสแกนในเวลาต่อมา ยังเผยให้เห็นหางเล็ก ๆ ที่สะบัดอยู่ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ชาร์ลอตต์ ซึ่งมีอายุประมาณ 12–14 ปี อาจให้กำเนิดลูกปลากระเบนของมันได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งการเกิดโดยไม่ผสมพันธุ์เช่นนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก และระยะเวลาการตั้งท้องจะอยู่ในช่วง 3–4 เดือน

ภายหลังการบูรณะเป็นเวลานาน พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งนี้ก็เปิดให้บริการอีกครั้ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งโบเยตต์ กล่าวว่า ทุกคนที่มาเยือน ต่างต้องการเจอกับชาร์ลอตต์ ที่มีขนาดตัวเท่ากับจาน, อาศัยอยู่ร่วมกับฉลามตัวเล็ก 5 ตัว และมีบุคลิกน่ารักที่เป็นเสน่ห์

อนึ่ง ความสามารถในการสืบพันธุ์ของสัตว์ตัวเมีย โดยไม่ต้องอาศัยการผสมพันธุ์กับสัตว์ตัวผู้นั้น ถือเป็นสิ่งที่หายากอย่างยิ่ง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการบันทึกกรณีดังกล่าวในสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิด เช่น นก, สัตว์เลื้อยคลาน รวมถึงปลา ซึ่งไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม.

เครดิตภาพ : AFP