สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม รัฐบาลเวียดนาม ระบุในเอกสารที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกลยุทธ์ ว่าผลผลิตไฮโดรเจนของประเทศ จะเพิ่มขึ้นเป็น 10–20 ล้านตัน ภายในปี 2593 ซึ่งรวมถึงไฮโดรเจนสีเขียวด้วย

“การผลิต การจำหน่าย และการใช้ไฮโดรเจน จะช่วยให้เวียดนามบรรลุเป้าหมายระดับชาติ ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593” เอกสารของรัฐบาล ระบุเสริม

ทั้งนี้ ไฮโดรเจน จัดอยู่ในประเภท “พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เมื่อผ่านกระบวนการอิเล็กโทรไลซิส หรือการแยกไฮโดรเจนกับออกซิเจนภายในโมเลกุลนํ้า ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งไฮโดรเจนยังถูกมองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรม แม้เทคโนโลยีดังกล่าวยังคงมีราคาแพง และอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาก็ตาม

เอกสารของรัฐบาลฮานอย ระบุต่อไปว่า ผลผลิตไฮโดรเจน จะเข้ามาแทนที่ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินในโรงไฟฟ้าบางส่วน ภายในปี 73 ตลอดจนนำไปใช้ในการขนส่ง และการผลิตปุ๋ย เหล็ก และปูนซีเมนต์ด้วยยิ่งไปกว่านั้น ไฮโดรเจน จะมีสัดส่วน 10% ของการผลิตไฟฟ้าในเวียดนาม ภายในปี 93 เช่นกัน

ส่วนประเทศไทย ยังเป็นการกำหนดให้ไฮโดรเจนเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะยาวและบรรลุ
เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 93 เช่นกัน เป้าหมายการพัฒนาไฮโดรเจนของไทยในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว คือ ประเทศไทยมีความพร้อม สามารถเริ่มมีการใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ในภาคพลังงาน ตั้งแต่ปี 73 ซึ่งขณะนี้กำหนดเป็นร่างแผนไฮโดรเจน ที่ศึกษาโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ยังไม่ได้กำหนดตัวเลขที่ชัดเจน แต่มีการกำหนดเป็น 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาตลาด และสร้างแรงจูงใจ ให้กับผู้ใช้ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับปรุงระเบียบ และมาตรฐาน.