สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ว่า แอฟริกาใต้เป็นถิ่นอาศัยของแรดส่วนใหญ่ของโลก แต่ประเทศก็เป็นแหล่งลักลอบล่าแรด ที่ได้รับแรงหนุนจากทวีปเอเชียเช่นกัน เนื่องจากนอแรดถูกมองว่า มีสรรพคุณทางยาในการแพทย์แผนโบราณ

กระทรวงสิ่งแวดล้อมแอฟริกาใต้ ระบุว่า แรด 499 ตัว ถูกฆ่าตายในปี 2566 โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอุทยานของรัฐ และในจำนวนข้างต้น อุทยานแห่งหนึ่งในจังหวัดควาซูลู-นาทัล ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่สงวนเก่าแก่ที่สุดในทวีปแอฟริกา สูญเสียแรดมากถึง 307 ตัว

“นี่คือการสูญเสียจากการลักลอบล่าสัตว์ที่สูงที่สุด ภายในจังหวัดนี้ แม้ทีมงานจากหลายฝ่ายที่มีวินัย ยังคงทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อชะลอแรงกดดันที่ไม่หยุดยั้งนี้” นางบาร์บารา ครีซี รมว.สิ่งแวดล้อมแอฟริกา กล่าว

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทางการแอฟริกาใต้เพิ่มความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะบริเวณรอบอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ ซึ่งมีจำนวนแรดลดลงอย่างมากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าว กลับผลักดันให้ผู้ลักลอบล่าสัตว์ย้ายไปยังเขตอนุรักษ์ระดับภูมิภาค และพื้นที่สงวนภาคเอกชนแทน

แม้องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ระบุเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้วว่า ความพยายามในการอนุรักษ์แรดของแอฟริกาใต้ ทำให้จำนวนแรดเพิ่มขึ้นทั่วแอฟริกา แต่นายเจฟฟ์ คุก จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่าการเพิ่มขึ้นเหล่านี้ ยังคงไม่ชัดเจน ตราบใดที่วิกฤติการลักลอบล่าสัตว์ยังคงดำเนินต่อไป

“การฆ่าแรดในจังหวัดควาซูลู-นาทัล ของแอฟริกาใต้ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง” คุก กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP