เมื่อวันที่ 29 ก.พ. นายภกร รงค์นพรัตน์ รองผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ว่า ตามที่นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ได้นำบริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและดำเนินการกับผู้กระทำผิดนั้น ตนอยากชี้แจงถึงประเด็นการจัดพิมพ์แบบเรียนปี 2567 ซึ่งการประกวดราคาองค์การค้าฯ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560  อย่างเคร่งครัด หากดำเนินการโดยใช้วิธี E-Bidding จะใช้เวลานานกว่า 110 วัน องค์การค้าฯ จึงใช้วิธีคัดเลือก ซึ่งใช้เวลาเพียง 25 วันโดยประมาณ ภายใต้เงื่อนไขต้องผลิตหนังสือเรียนให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1/2567 ในวันที่ 16 พ.ค. นี้ เพราะหากเด็กไม่ได้รับหนังสือเรียนจากองค์การค้าฯ ที่เป็นผู้ผลิตแบบเรียนก็ต้องไปใช้หนังสือเรียนของสำนักพิมพ์อื่นแทน ส่งผลให้องค์การค้าฯ สูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก เนื่องจากตำราเรียนมีหมวดการเรียนที่ไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นที่ต้องใช้วิธีการทำอย่างไรให้โรงเรียนได้ใช้หนังสือที่ดีมีคุณภาพ

นายภกร กล่าวต่อไปว่า สำหรับหนังสือเรียนขององค์การค้าฯมีคุณภาพหากเทียบหน้าต่อหน้ากับหนังสือในท้องตลาด อีกทั้งหากนักเรียนได้ใช้แบบเรียนขององค์การค้าฯที่เป็นนักวิชาการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นผู้เขียนตำราเองจะถือว่าทุนมนุษย์ของเด็กมีขีดความสามารถสูงขึ้น ดังนั้นเราต้องการกระจายหนังสือเรียนเข้าไปถึงโรงเรียนให้ได้มากที่สุด ส่วนประเด็นสเปกกระดาษขององค์การค้าฯ ก็เป็นการใช้พิมพ์มาแล้ว 2-3 ปี และในทีโออาร์ก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องไปใช้กระดาษของบริษัทอื่น ซึ่งจะไปซื้อกระดาษกับผู้ค้าเจ้าไหนก็ได้เราไม่ได้บังคับ นอกจากนี้โรงพิมพ์จำนวน 19 แห่ง ที่เข้ามาประมูลการพิมพ์แบบเรียนนั้น ขอชี้แจงว่า โรงพิมพ์ 4 แห่ง เป็นของหน่วยงานรัฐ และอีก 15 แห่ง เป็นโรงพิมพ์ที่เคยพิมพ์งานกับองค์การค้าฯ มาก่อน และได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งทุกรายเข้ามาแข่งขันราคากัน เพราะไม่ได้มีการวางประกันซอง เนื่องจากข้อกฎหมายที่เราใช้จัดทำทีโออาร์นั้นไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีการวางประกันซองราคา เพราะจะไปกีดกันโรงพิมพ์ขนาดเล็กเจ้าอื่นๆ ได้ ซึ่งการวางเงินประกันซองแต่ละครั้งมีราคาสูงถึง 40 ล้านบาท ดังนั้นเราจึงเปิดกว้างให้ทุกโรงพิมพ์ และเลือกใช้การกำหนดราคาแทน โดยโรงพิมพ์ไหนให้ราคาถูก ก็ได้รับงานพิมพ์หนังสือเรียนไปดำเนินการ

“การที่กำหนดโรงพิมพ์จำนวน 19 แห่งนั้น เพราะโรงพิมพ์เหล่านี้ ขึ้นทะเบียนกับองค์การค้าฯ ไว้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของการพิมพ์แบบเรียนกับเราได้ และจัดส่งแบบเรียนได้ทันตามกรอบเวลา และไม่เคยทำความเสียหายให้ เราสามารถเชิญโรงพิมพ์อื่นๆ ได้ แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าจัดพิมพ์แบบเรียนได้ทันหรือไม่” รอง ผอ.องค์การค้าฯ กล่าว