เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 ก.พ. 67 ที่รัฐสภา นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุม กมธ. ซึ่งพิจารณากรณีข้อพิพาทที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ปักหมุดทับซ้อนเขตป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และอุทยานฯ ทั่วประเทศว่า กมธ. มีข้อสังเกต 3 ข้อดังนี้ 1.ทั้ง 2 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการทำแผนที่กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือ 1.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ 2.กรมแผนที่ทหาร ยังมีประเด็นโต้เถียงกันในเรื่องแนวเขตโดยกรมอุทยานฯ ไม่ยอมรับแนวเขตตามแผนที่ที่นำเสนอโดยกรมแผนที่ทหาร ซึ่งแผนที่ชุดนี้ คือ แผนที่ซึ่งทางสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ยึดถือเป็นแนวเขตในการดำเนินการ และแผนที่ของกรมแผนที่ทหารชุดนี้ เป็นชุดเดียวกับที่ได้ส่งรายงานไปให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ขณะที่กรมอุทยานฯ ได้ให้เหตุผลของความไม่ถูกต้องว่า ตามกฎหมายจะต้องยึดแนวเขตตามแผนที่แนบท้าย มาตราส่วน 1 ต่อ 250,000 ในพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ที่กำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาใหญ่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2505 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2505

นายฐิติกันต์ กล่าวต่อว่า 2.การได้มาซึ่งแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่เดิมนั้นเกิดจากการสำรวจผ่านกล้องรังวัดมุม โดยมีการทำหลักหมุดไม้แก่นที่กำหนดเขตอุทยานรวมทั้งหมด 938 จุด ซึ่งในสมัยนั้น ได้มีการจดบันทึกจัดทำไว้ในสมุดจดงานภาคสนาม หรือ Field Book เก็บไว้ด้วยโดยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นอุทยานฯ เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีการบันทึก Field Book ซึ่งอุทยานฯ แห่งอื่นๆ ไม่มี แต่ปรากฏว่า หลักหมุดที่เกิดมาจากการสำรวจครั้งแรก ก่อนมีการจัดตั้งอุทยานฯ แห่งนี้ มีความผิดเพี้ยนของแนวเขตหลายจุด เมื่อเทียบกับแผนที่ตาม พ.ร.ฎ.ของกรมอุทยานฯ โดยกรมแผนที่ทหาร ได้อ้างวิธีการได้มาของแผนที่แนวเขตล่าสุด ซึ่งทางสำนักงาน ส.ป.ก. ใช้อ้างอิงว่า เป็นการถอดมาจาก Field Book เล่มเดิม ร่วมกับการสำรวจหลักหมุดจริงและสภาพภูมิศาสตร์พื้นที่โดยรอบ และนำไปทำเป็นแนวเขตผ่านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS ซึ่ง กมธ. จะต้องหาข้อเท็จจริงกันต่อไป     

นายฐิติกันต์ กล่าวต่อว่า 3.หลังจากแผนที่ตาม พ.ร.ฎ.ของกรมอุทยานฯ ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2505  ต่อมาได้มีการทำแผนที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้มีอัตราส่วนละเอียดขึ้นเป็น 1 ต่อ 50,000 และภายหลังยังมีโครงการทำแผนที่วันแม็พ หรือแผนที่ตามอัตราส่วน 1 ต่อ 4,000 เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งแผนที่วันแม็พ ของพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้น ปัจจุบันดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้นำส่ง ครม. ให้รับรองและประกาศใช้ เนื่องจากยังมีปัญหาแนวเขตทับซ้อนของเขตอุทยานฯ ในพื้นที่ของ จ.ปราจีนบุรี แต่กลับไม่มีปัญหาการทับซ้อนของเขตอุทยานฯ ในพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา ในระหว่างการประชุมจัดทำวันแม็พ ร่วมกันของทุกหน่วยงาน หากตอนที่มีการทำวันแม็พ แนวเขตอุทยานฯ ในพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา มีความไม่ตรงกันของแนวเขต ทำไมสำนักงาน ส.ป.ก. ในจังหวัด จึงไม่มีการชี้แจง หรือโต้แย้ง แต่กลับปล่อยให้กระบวนการวันแม็พผ่าน ถือว่า สำนักงานส.ป.ก.จังหวัดนครราชสีมา ยอมรับมติของที่ประชุมอนุกรรมการวันแม็พ กระบวนการการออกที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา

“ทางสำนักงาน ส.ป.ก. จ.นครราชสีมา ยอมรับว่า กระบวนการในการตรวจสอบสิทธิเป็นไปโดยมิชอบ และยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า กระบวนการตรวจสอบสิทธินั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการท้วงติงจากหน่วยงานอื่น ๆ ในการทำรังวัดที่ดิน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ก็ไม่ทราบในเรื่องนี้ ซึ่ง กมธ. จะต้องหาข้อเท็จจริงกันต่อไป” นายฐิติกันต์ กล่าว.