เมื่อวันที่ 29 ก.พ.นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาผู้บริหาร เรื่อง ความรู้ความเข้าใจ การนำหลักสูตรสถานศึกษาสู่กระบวนการเรียนรู้ Active Learning/โครงงาน หรือ Project-based Learning การจัดทำหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการศาสตร์การเรียนรู้ ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Meeting โดยมี นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ คณะผู้บริหารในสังกัดการศึกษาพิเศษ รองผู้อำนวยการ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระฯ เข้าร่วมประชุม รวม 1,060 คน ในระหว่างวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร
.
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ดำเนินการคู่ขนานกับกิจกรรมการประชุมวิชาการระดับชาติด้านการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิดของการจัดงาน “เรียนดี มีสุขกับการเรียนรู้เชิงรุกในทุกช่วงวัย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุม เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในการนำหลักสูตรไปใช้ในสถานศึกษาสู่กระบวนการเรียนรู้ Active Learning หรือ Project-based Learning และการจัดทำหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการศาสตร์การเรียนรู้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพของนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็วและมีความหมาย เกิดความยั่งยืนแก่ตัวนักเรียน เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากนักเรียนร่วมกันคิด ร่วมกันปฏิบัติ แล้วสื่อสารออกมาอย่างเข้าใจ ตลอดจนสามารถต่อยอดนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองได้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 106 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 106 คน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ จำนวน 106 คน และหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระฯ จำนวน 848 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,060 คน
.
นางเกศทิพย์ กล่าวว่า สิ่งที่ชื่นชมในการประชุมครั้งนี้คือแนวคิดหัวข้อการดำเนินการ เป็นการให้ความรู้และนำผลของการดำเนินการไปสู่การปฏิบัติ โดยสิ่งสำคัญที่สุด คือ คุณภาพของนักเรียน ล้วนเกิดจากกระบวนการที่นักเรียนต้องร่วมกันคิด ร่วมกันปฏิบัติ ซึ่งมีการมุ่งเน้นในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการตัวชี้วัด คุณลักษณะอันพึงประสงค์ สู่การสร้างสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียน โดยการร่วมมือกันของผู้บริหาร และครู ในการออกแบบ วางแผน จัดบริบททางการเรียนรู้ให้น่าสนใจ ให้นักเรียนมีเวทีในการแสดงออกถึงศักยภาพ รวมถึงการดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายสำคัญ “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” และนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. โดยว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี นำไปสู่การเรียนรู้ตามความถนัดและความสนใจของนักเรียนที่ทำให้เกิดความสุขต่อการเรียนรู้ในที่สุด
.
“พร้อมกันนี้ ฝากคณะทำงานในประเด็นการประเมินผล โดยชี้แนะให้การดำเนินการต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้นำไปสู่การประเมินผล ทำให้เกิดองค์ความรู้ในภาพรวมที่สามารถไปต่อยอดได้แล้วมีเวลาเหลือ ซึ่งเรียกว่า “การบริหารจัดการหลักสูตร” หากสถานศึกษาทำได้ถือว่าเกิดประโยชน์สูงสุดและนักเรียนจะเกิดความรู้ที่ยั่งยืน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโรงเรียนของเราทุกแห่งที่ได้รับโอกาสตรงนี้จะสามารถเป็นต้นแบบที่สำคัญของการขับเคลื่อนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ในทุกพื้นที่ต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทั้งนี้ ในการประชุมยังมีการอภิปรายให้ความรู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ “การบริหารการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน” “การนำหลักสูตรสถานศึกษาสู่กระบวนการเรียนรู้ Active Learning” และ “การจัดทำหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการศาสตร์การเรียนรู้” โดย ดร.สมพร หวานเสร็จ อดีตผู้อำนวยการเชี่ยวชาญศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง และนางสาวชลากร เจริญผล ศึกษานิเทศก์สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมอีกด้วย