ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม นายสมฤทธิ์ วงษ์สวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม เป็นประธานประชุมเรื่องการย้ายจุดควบคุมค่าความเค็มแม่น้ำแม่กลองจาก อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ไปยังปากคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี จนชาวสมุทรสงคราม กว่า 200 คน ได้พากันไปที่ศาลากลางจังหวัด เข้าพบนายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผวจ.สมุทรสงคราม เพื่อยื่นหนังสือขอให้ชลประทานย้ายจุดควบคุมค่าความเค็มดังกล่าวกลับมาที่ อ.อัมพวา เช่นเดิม มี น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายพิเชษฐ ภัคพยัต ผอ.โครงการชลประทานสมุทรสงครามมารับฟังปัญหา นายสมชาย ตันประเสริฐ นายกเทศมนตรีเมืองสมุทรสงคราม นายสำรวย กลิ่นอภัย นายกเทศมนตรีตำบลสวนหลวง นายกิตติพร ขำศิริ นายก อบต.บางนางลี่ นายดรุฒ ยังวัฒนา นายก อบต.ปลายโพงพาง หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสมาชิกสภาเกษตรกรร่วมประชุมกว่า 50 คน

นายสมฤทธิ์ กล่าวว่า จากกระแสข่าวการย้ายจุดควบคุมค่าความเค็มจาก อ.อัมพวาไปที่ปากคลองดำเนินสะดวก ระยะห่าง 20 กม. หากเป็นเช่นนั้น ทางชลประทานก็จะยึดการวัดค่าความเค็มจากจุดควบคุมปากคลองดำเนินสะดวกแทน เนื่องจากอัมพวาไม่ใช่จุดที่ชลประทานยึดเป็นจุดแจ้งเตือน ดังนั้นการผันน้ำจืดลงมาน้อยจะทำให้น้ำใน อ.อัมพวา ที่เป็นน้ำกร่อยจะเป็นน้ำเค็ม ส่วนน้ำใน อ.บางคนที ที่เป็นน้ำจืดก็จะเป็นน้ำกร่อย นอกจากนี้บริเวณปากอ่าวแม่กลองที่มีการเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม และสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ต้องการน้ำกร่อย เนื่องจากระบบนิเวศจะทำให้เกิดการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนที่เป็นอาหาร แต่หากไม่มีน้ำจืดเพียงพอผลักดันน้ำเค็มให้เจือจาง ก็จะทำให้แพลงก์ตอนเกิดน้อยลง ส่งผลทำให้สัตว์น้ำเจริญเติบโตช้าและอาจตายได้ และยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมจากใต้ อ.ดำเนินสะดวก ถึง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมีพื้นที่การเกษตร 106,483 ไร่ และพื้นที่ประมงน้ำจืดอีก 8,125 ไร่ ด้วย 

ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ยืนยันในที่ประชุม ว่า ยังไม่มีการย้ายจุดควบคุมค่าความเค็มจาก อ.อัมพวา ไปที่ปากคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี แต่อย่างใด ปัจจุบันยังอยู่ที่เดิม และยังยืนยันด้วยว่าคนแม่กลองต้องได้รับสิทธิการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองก่อน ส่วนที่เหลือจึงจะนำไปใช้ที่ลุ่มน้ำข้างเคียงได้เป็นกฎเกณฑ์กำหนดระดับชาติ ว่า การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำแม่กลองจะดำเนินการโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลองเท่านั้น สำหรับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่กลองมีน้ำต้นทุนจาก 2 เขื่อนคือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ปีนี้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญภาวะภัยแล้งรุนแรง จึงมีผลกระทบเรื่องปริมาณน้ำ ทางหน่วยงานกลางจึงมีนโยบายประหยัดน้ำจนบางครั้งอาจเกิดความไม่เข้าใจเรื่องการระบายน้ำ แต่ยืนยันเรื่องการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก ระบบนิเวศเป็นอันดับ 2 และการเกษตรเป็นอันดับ 3 แต่บางครั้งการระบายน้ำจืดช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติ ต้องใช้เวลาในการเจือจางจึงทำให้ความเค็มไม่ลดลงทันที

น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับการประสานงานจากสภาเกษตรกร เพราะเกษตรกรมีความกังวลเรื่องการย้ายจุดควบคุมค่าความเค็มจาก อ.อัมพวา ไปที่ปากคลองดำเนินสะดวก ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานยืนยันแล้วว่า ยังใช้จุด อ.อัมพวา ที่เดิม ไม่มีการย้าย จึงให้สำนักงานชลประทานที่ 13 ทำหนังสือยืนยันส่งมาแล้ว และได้นำเรื่องเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงนำมาสู่การนำหน่วยงานที่รับผิดชอบลงพื้นที่ทำความเข้าใจ 

นอกจากนี้ น.ส.จอมขวัญ ยังยืนยันว่า การบริหารจัดการน้ำต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม และยังเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มีการจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำของประเทศ จึงขอให้ชาวสมุทรสงครามคลายความกังวล หากมีเรื่องร้อนใจ ก็สามารถติดต่อได้ที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทันที