เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากฉบับที่ใช้อยู่ปัจุบัน คือ ฉบับ พ.ศ. 2551 จนถึงตอนนี้ผ่านมา 16 ปีแล้ว ซึ่งตามหลักการกฎหมายทุกฉบับเมื่อบังคับใช้ผ่านไป 5 ปี แล้วต้องมาทบทวนว่า เมื่อเทียบกับสถานการณ์แล้วยังใช้ได้ดีอยู่หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า ยังมีบางประเด็น บางแง่มุมที่ไม่มีความชัดเจน บทบัญญัติไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเสนอร่างฯ ใหม่เข้ามาโดยกำหนดนิยามคำว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นิยามคำว่า “ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”  รวมถึงนิยาม “สื่อสารการตลาด” เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอดีตกฎหมายไม่ได้ระบุว่า ปริมาณแอลกอฮอล์เท่าไหร่ ไม่เกินเท่าไหร่ ทำให้อยู่ที่การตีความ ดังนั้นในร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่จะระบุชัดว่า หากแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5% ไม่ถือว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ ยังบัญญัติให้เพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น เพิ่มผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และให้อำนาจหน้าที่รัฐมนตรีที่รักษาการตาม พ.ร.บ. ในการกำหนดไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ขาย หรือสถานบริการ รวมทั้งเพิ่มโทษ หากละเมิดดื่มในจุดที่ห้ามขายปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

ทั้งนี้ ตามหลักการนี้ ครม.เห็นด้วยในหลักการว่า พ.ร.บ.ที่ใช้อยู่ในปัจุบัน จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีความเห็นว่า สิ่งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการไปก่อนหน้านี้ว่า ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเศรษฐกิจนั้น มันมีทิศทางของการที่จำเป็นต้องคำนึงถึงมิติทางด้านศรษฐกิจ ต้องมีการผ่อนปรนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันที่ประชุม ครม.ก็เห็นความสำคัญทางด้านสุขภาพ เรื่องความปลอดภัยจากการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ครม. จึงเห็นชอบว่า ร่างพ.ร.บ. ต้องยกร่างใหม่ แต่เนื้อหาสาระขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกานำกลับไปทบทวนสาระให้เกิดสมดุลระหว่างมิติด้านสุขภาพ และมิติกระตุ้นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โดยนายกฯ ให้เลขาธิการนายกฯ พร้อมคณะทำงานไปรีวิวว่า สิ่งที่การท่องเที่ยว การกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการการค้า การกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการการผ่อนปรนด้านใดบ้าง และเสนอให้ครม. พิจารณาภายใน 1 สัปดาห์ หากครม.เห็นชอบก็ส่งให้กฤษฎีกา เพื่อนำไปประมวล ทำให้เนื้อหาร่างออกมามีความสมดุลทั้งสุขภาพ และศรษฐกิจ

“สรุปร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอมารอบนี้ ครม. เห็นชอบในหลักการ แต่เนื้อหาจะรอให้กฤษฎีกาได้รับข้อเสนอในมิติด้านเศรษฐกิจให้เรียบร้อยแล้วนำไปเขียนทบทวนใหม่แล้วค่อยเสนอกลับเข้ามาใหม่อีกครั้ง” นายชัย กล่าว และว่า หลักๆ ที่เป็นคีย์เมสเสจที่ครม.ตัดสินใจ คือ 1. ต้องทำให้กฎหมายฉบับนี้มีคววามชัดเจนทุกมิติ เพื่อการบังคับใช้มีความชัดเจน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่มีถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง 2.ต้องการให้กฎหมายมีความสมดุลทั้งด้านสุขภาพ กับเศรษฐกิจ 3. การผ่อนปรนถ้าจะเกิดขึ้น ต้องเป็นการผ่อนปรนที่แม่นยำ เฉพาะเจาะจงตามวัตถุประสงค์การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว.