ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีฟุตบอลชายทีมชาติไทย ชุดซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ยังไม่ได้เงินอัดฉีด จากผลงานเหรียญเงิน เพราะเหตุฉาวในรอบชิงชนะเลิศ กับ อินโดนีเซีย และทาง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ยังไม่ส่งเรื่องชี้แจง ระบุ อาจได้เงินไม่ครบทุกคน

งานแจกเงินอัดฉีดซีเกมส์ ครั้งที่ 32 และ อาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 12 ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (6 ก.ค.) มีการแจกเงินให้นักกีฬาทุกคนที่ได้เหรียญ รวมแล้ว 338 ล้านบาท ส่วนสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ นั้น แจกให้แต่ทีมหญิง ที่ได้เหรียญทองแดง ส่วนทีมชาย ที่ได้เหรียญเงินนั้น ยังไม่มีการแจกแต่อย่างใด

อ่านข่าว : แจกอัดฉีดซีเกมส์วันนี้! ‘ช้างศึกหนุ่ม’ ทีมชาติไทยทีมเดียวที่ไม่ได้เงิน

สำหรับเกณฑ์เงินอัดฉีดซีเกมส์นั้น เหรียญทอง จะได้รับเงินอัดฉีด 300,000 บาท เหรียญเงิน 150,000 บาท และเหรียญทองแดง 75,000 บาท ขณะที่ ผู้ฝึกสอนของกีฬาที่เป็นบุคคลหรือทีมไม่เกิน 6 คน จะได้รับร้อยละ 20 หากเป็นทีมตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป จะได้รับร้อยละ 10 จากวงเงินที่นักกีฬาได้รับ ส่วนสมาคมกีฬาต้นสังกัด จะได้รับร้อยละ 30 จากจำนวนเงินที่นักกีฬาได้รับ แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท

เท่ากับว่า ทีมฟุตบอลชายไทย จะได้เงินอัดฉีดมากกว่า 3 ล้านบาท จากนักกีฬา 20 คน รวมกับ โค้ชที่ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ และสมาคมฯ 30 เปอร์เซ็นต์

เรื่องนี้ ดร.ก้องศักด ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า ได้ชะลอมอบเงินให้ทีมฟุตบอลชาย เพราะจากปัญหาที่เกิดเรื่องวิวาทในรอบชิงชนะเลิศ กับ อินโดนีเซีย เป็นเรื่องที่เสื่อมเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของวงการกีฬาประเทศไทยพอสมควร ซึ่ง กกท. ขอให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ทำหนังสือชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าวมาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

ดร.ก้องศักด ยังเผยอีกว่า บอร์ด กกท. ให้ กกท. ตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าใครกระทำผิด ใครกระทำไม่เหมาะสมบ้าง เช่น ผู้ที่กระทำผิดและเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทโดยตรง และถูกลงโทษ อาจจะไม่ได้รับเงินรางวัล ซึ่งเรื่องนี้ต้องการการชี้แจงที่ชัดเจน ว่ามีใครบ้าง และโทษแต่ละคนเป็นอย่างไร จะพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และดูในภาพรวมว่าผิดกฎกติกาอะไรไหม ซึ่งก็ไม่ได้ติดขัดในเรื่องของเงินรางวัล หรือระบบการเบิกจ่าย กกท. จะเร่งสอบถามไปยังสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เพื่อให้ทำเรื่องชี้แจงกลับมาโดยเร็วที่สุด อยากจะมอบเงินรางวัลดังกล่าว และคำนึงถึงนักกีฬา เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับผลกระทบไปด้วย

“กรณีนี้ก็อาจจะขอให้เป็นกรณีศึกษา ซึ่งในครั้งต่อๆ ไป ก็คงต้องมีกฎ กติกา ในการเป็นตัวแทนทีมชาติร่วมกันว่า หากใครที่เป็นตัวแทนแล้ว ไปสร้างความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับประเทศชาติและภาพรวมของวงการกีฬาไทย ก็ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจน”

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ได้วิพากษ์วิจารณ์ทีมฟุตบอลชายไทยอย่างหนัก ให้ นายกสมาคมฯ และโค้ช ลาออก เพราะเสื่อมเสีย จนเป็นปมเดือดกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ จะลาออก เสี่ยงฟีฟ่าแบน เพราะอาจเข้าข่ายแทรกแซง ก่อนสภากรรมการสมาคมฟุตบอลฯ มีมติเอกฉันท์ ระงับการลาออกของ พล.ต.อ.สมยศ

ทั้งนี้ จากเหตุดังกล่าว สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ สั่งลงโทษผู้เกี่ยวข้อง นายประสบโชค โชคเหมาะ ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู, นายมายีด หมัดอะด้ำ เจ้าหน้าที่ทีม, นายภัทราวุธ วงษ์ศรีเผือก เจ้าหน้าที่ทีม ห้ามยุ่งเกี่ยวทีมชาติ 1 ปี ส่วน 2 นักเตะ ที่เกี่ยวข้อง สภณวิชญ์ รักญาติ และ ธีรภักดิ์ เปรื่องนา แบนคนละ 6 เดือน