ขณะที่เป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยเรื่อง สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ ดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาและออกแบบโมเดลโครงการแก้จน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส” ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ภายใต้ “โครงการการประเมินและพัฒนาศักยภาพผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่นำร่องจังหวัดยากจน” ตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มีวัตถุประสงค์ เพื่อต่อยอดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายในพื้นที่ ด้านการถ่ายทอดความรู้สู่ trainer นักวิจัยของมหาวิทยาลัยในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ สถานที่ผลิต เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานระดับสากล พร้อมเข้าสู่ตลาดอย่างยั่งยืนเป้าหมายการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับกลุ่มคนจนเป้าหมาย ให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยี และขยายไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน

เลี้ยงแพะครบวงจร3จังหวัดชายแดนใต้

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า การดำเนินโครงการของ วว. และพันธมิตรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 2 แนวทางหลักในการนำองค์ความรู้ วทน. เข้าไปขับเคลื่อน คือ 1. Ready technology เทคโนโลยีพร้อมใช้ ที่ได้ผ่านการวิจัย พัฒนา ทดสอบและใช้งานเห็นผลสำเร็จจริง มีระดับเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และ 2. Appropriate technology เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม แก้ปัญหา-ตอบโจทย์ สามารถนำไปปรับใช้ และถ่ายทอดองค์ความรู้/เทคโนโลยีกับพื้นที่หรือครัวเรือนยากจน เพื่อการพัฒนาอาชีพ โดยประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานเป็นรูปแบบ โมเดลแก้จน คือ “สร้างธุรกิจใหม่-Up Skill-รายได้เพิ่มขึ้น” ดังนี้ จังหวัดปัตตานี วว. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดำเนินการในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง ได้แก่ 1. การเลี้ยงแพะแบบครบวงจร โดยพัฒนา “ระบบหนุนเสริมงาน” ให้ครัวเรือนมีพื้นที่เลี้ยงแพะและมีอาหารเลี้ยงแพะที่มีคุณภาพ ด้วยการจัดหาพ่อพันธุ์แพะเนื้อ สายพันธุ์แองโกลนูเบียนและสายพันธุ์บอร์ พัฒนาแปลงปลูกพืชอาหารสัตว์ ณ ฟาร์มตัวอย่างบ้านปิยามุมัง ขนาดพื้นที่ 4 ไร่ และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ต.แหลมโพธิ์ จำนวน 20 ไร่ ในการปลูกหญ้ากินนี มันสำปะหลัง สำหรับเป็นอาหารสัตว์ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและใช้อาหารหมักคุณภาพสูงสำหรับแพะเนื้อ พัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบเม็ดจากมูลแพะเคลือบด้วยจุลินทรีย์ประจำถิ่นจากแหล่งดินสมบูรณ์ พัฒนาคอกเลี้ยงแพะที่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ มีทักษะและเทคโนโลยีในการประกอบอาชีพกว่า 20 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายลูกแพะ แพะเนื้อ ต้นพันธุ์อาหารสัตว์ หญ้าสด อาหารหมักและปุ๋ยอินทรีย์แบบเม็ดจากมูลแพะ

2.พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงสมุนไพรแกงกูตุ๊ ดำเนินการเพิ่มมูลค่าพัฒนาอาหารทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นอาหารหลักของพื้นที่และชาวมุสลิม เน้นการใช้ภูมิปัญญาสมุนไพรและเครื่องเทศที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ ในกระบวนการสร้างรายได้และสร้างธุรกิจใหม่จากการแปรรูปผักสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแกงเพื่อสุขภาพ โดยการวิเคราะห์คุณภาพและปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ การแปรรูประดับกึ่งอุตสาหกรรม การออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารตามมาตรฐาน อย. สร้างทักษะนักธุรกิจระดับท้องถิ่นเพื่อยกระดับคุณภาพชุมชนได้กว่า 15 ครัวเรือน ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต็อยญิตาลีอายร์ ต. ตาลีอายร์ โดยผลิตภัณฑ์เครื่องแกงที่พัฒนาสำเร็จ ถูกหลักโภชนาการ มีรสชาติเผ็ดร้อน ถูกต้องตามหลักศาสนา สามารถพกพาสะดวก เหมาะกับการเดินทางไกล เช่น เดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนา พิธีฮัจย์ เป็นต้น อีกทั้งสามารถนำไปปรุงผสมกับเนื้อสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเนื้อวัวหรือเนื้อแพะ ทำให้อาหารไม่มีกลิ่นสาบ

ใช้วิทยาศาสตร์ยกระดับ“ข้าวโพด”ที่ยะลา

ดร.ชุติมา กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ใน จังหวัดยะลา ดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พัฒนาปัจจัยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเพื่อการปลูกข้าวโพดหวาน ณ ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา โดยใช้เทคโนโลยีด้านปัจจัยการผลิต (เกษตรต้นนํ้า) เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหวานสำหรับข้าวโพด เพื่อพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบในพื้นที่ เริ่มจากการปรับปรุงดิน และพัฒนาสูตรปุ๋ยหวานเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิต โดยกลุ่มเกษตรกรได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะ และนำไปใช้จริงในพื้นที่ พร้อมนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการปลูกพืชผักสวนครัวอื่น ๆ เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว พริกขี้หนูสวน มะเขือ ตะไคร้หยวกขาว ขมิ้นเกษตร สำหรับประกอบอาหารเพื่อยังชีพในครอบครัวและจำหน่ายในชุมชน, การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์นํ้านมข้าวโพดเสริมคุณค่าทางโภชนาการสำหรับนักเรียน และการปรับปรุงโรงเรือนการผลิตนํ้านมข้าวโพดพาสเจอไรซ์ ในพื้นที่ อบต.ตาเนาะปูเต๊ะ กว่า 20 ครัวเรือน พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากนํ้านมข้าวโพด ของมหาวิทยาลัยพื้นที่เพื่อเสริมคุณค่าทางโภชนาการสำหรับนักเรียน โดยการวิเคราะห์ฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์ พัฒนาสูตร นํ้านมข้าวโพดเสริมวิตามินและแคลเซียม สำหรับต่อยอดสู่นมโรงเรียน พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ สนับสนุนอุปกรณ์แยกกากข้าวโพด วัตถุเจือปนอาหาร คือ วิตามินและแร่ธาตุให้มหาวิทยาลัยพื้นที่นำไปพัฒนาต่อยอด ปรับปรุงโรงเรือนการผลิตนํ้านมข้าวโพดพาสเจอไรซ์ตามมาตรฐาน สำหรับใช้เป็นครัวกลางในแปรรูปนํ้านมข้าวโพด รวมทั้งออกแบบสายการผลิต ปรับปรุงสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

พรประไพ เสือเขียว
[email protected]