เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายร่มธรรม ขำนุรักษ์  สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้รายงานการศึกษาการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำทะเลสาบอื่น ๆ อย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแล้วเสร็จ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งรายงานฉบับนี้ ตนในฐานะรองอนุ กมธ.ศึกษาฯ ตามที่กมธ.ชุดใหญ่มอบหมายให้ตั้งขึ้น ต้องบอกว่าพวกเราใช้เวลาที่จำกัดอย่างเต็มที่ในการศึกษาจากพื้นที่ รวมถึงรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านไม่ว่าจากหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และภาคประชาชน ซึ่งผลการศึกษานี้สำหรับตนเป็นเสมือนเข็มทิศของการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ไทยลากูน) ให้มีความยั่งยืนและมีอนาคต ที่มีทั้งวิถีชีวิตผู้คน สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอยู่ในนั้น ซึ่งการยกระดับสู่การเป็นไทยลากูน จะมีความหมายไม่เฉพาะคนในท้องถิ่นเท่านั้น แต่เรากำลังพูดถึงพื้นที่นี้ในฐานะพื้นที่แบบเฉพาะที่มีความสำคัญในระดับโลก และได้ยืนยันถึงความเป็นลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของระบบ 3 น้ำคือ จืด เค็มและกร่อย ที่สะท้อนความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของธรรมชาติตั้งแต่ภูเขาสู่ทะเล เป็นทะเลสาบแบบลากูนแห่งเดียวของไทย และเป็น 1 ใน 117 แห่งทั่วโลก และมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมวิถีชีวิตของคนพื้นที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าด้านการเกษตร ประมง การสัญจร และการท่องเที่ยว

“ในลุ่มน้ำนี้มีเทือกเขานครศรีธรรมราชที่มีป่าไม้และสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าพรุควนเคร็งที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งพันธุ์สัตว์และพืช เป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ มีพรุควนขี้เสียน ที่ทะเลน้อย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของโลก มีทะเลน้อยเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของไทย มีควายน้ำเป็นมรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกและเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย และมีโลมาอิรวดีน้ำจืดเหลืออีก 14-20 ตัวเท่านั้น” นายร่มธรรม กล่าว

นายร่มธรรม กล่าวต่อว่า จากการใช้ประโยชน์และจากกิจกรรมต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้พื้นที่ทะเลสาบแห่งนี้อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งมีชีวิตลดลง โดยสาเหตุสำคัญคือการบริหารจัดการที่ไม่เข้าใจและคำนึงถึงระบบนิเวศแบบลากูน ไม่มองถึงความสัมพันธ์ของลุ่มน้ำแบบองค์รวมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยการบริหารจัดการปัจจุบันเน้นในด้านน้ำเพื่อการชลประทานเป็นหลัก สิ่งที่เราตั้งข้อสังเกตก็คือเมื่อมีการพัฒนาใดๆ ขึ้นในทะเลสาบ สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นการทำให้ระบบน้ำในทะเลสาบเกิดปัญหา อีกทั้งยังมีอีกหลายปัญหาที่เราสะท้อนลงไปในการศึกษาในเรื่องนี้ด้วย เช่น ปัญหาการไม่บูรณาการระหว่างหน่วยงานและการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนเท่าที่ควร สิ่งเหล่านี้เป็นการยืนยันว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องดำเนินการบางอย่างได้แล้ว และเดินด้วยการใช้เข็มทิศที่เชื่อถือได้ในการทำงาน

“ไม่ถึงเดือนมานี้เราเพิ่งพบซากโลมาอิรวดี ที่เหลืออยู่ในทะเลสาบสงขลาเพียง 14-20 ตัวเท่านั้น การที่มันตายไปแม้เพียงหนึ่งตัวจึงมีความหมายอย่างมากที่เราต้องหาคำตอบ และสะท้อนว่าเราต้องเร่งหาทางอนุรักษ์ หรือฟื้นฟูพื้นที่นี้อย่างเร่งด่วน หากจำได้ ในการอภิปรายของผมที่นำเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาลุ่มน้ำแห่งนี้อย่างจริงจัง ผมได้สะท้อนถึงความจำเป็นที่เราจะต้องมีแนวทางคงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ไว้ควบคู่กับการพัฒนาหรือการอนุรักษ์รักษาอย่างไม่ผิดทิศผิดทาง และเราจะรอช้าไม่ได้อีกแล้วในการต้องดำเนินการบางอย่างทันทีเพื่อแข่งกับเวลา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบริหารจัดการแบบบูรณาการและต้องให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งด้านการใช้ประโยชน์ และการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นทะเลสาบที่พี่น้องได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนไปตราบนาน” นายร่มธรรม กล่าว

นายร่มธรรม กล่าวต่อด้วยว่า เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายปัญหานี้ ตนในฐานะ สส.ได้ร่วมกับเพื่อนสมาชิก นักวิชาการ ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ได้นำข้อสังเกตนี้ รวมถึงอีกหลายๆ ปัญหาเข้าสู่คณะอนุศึกษาได้ทำการศึกษา รับฟังข้อมูล และลงพื้นที่ กลั่นกรองจนเป็นรายงานฉบับนี้ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะให้รัฐบาลได้ดำเนินการต่อไป ในวันที่ 7 มี.ค.นี้ จึงอยากขอเชิญชวนพี่น้องติดตามรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำทะเลสาบอื่น ๆ อย่างยั่งยืน ของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่พวกเราทุกพรรคการเมืองร่วมกันศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะต่างๆ ที่หวังให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปดำเนินการ โดยสามารถติดตามได้ทางวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา ช่วงบ่ายเป็นต้นไป และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และทุกๆ ลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน

“สำหรับคนไทยทุกๆ คน ผมขอถือโอกาสนี้เชิญวนให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดัน ‘ไทยลากูน’ สู่ความยั่งยืนและได้รับเสียงชื่นชมการบริหารจัดการของเราในระดับโลกไปด้วยกัน” นายร่มธรรม กล่าว.