เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา จัดโครงการสัมมนาเรื่อง “โจทย์วิจัยและนวัตกรรมกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสู่เชิงพาณิชย์” โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ประธานกมธ.ฯ กล่าวเปิดงานว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว กมธ.ได้จัดสัมมนาในเรื่องการวิจัยนวัตกรรมเกี่ยวกับการใช้ยางพารา เพื่อนำไปสู่การใช้งานได้มากขึ้น โดยดำเนินการมาในลักษณะของช่วงต้นทางและกลางทาง ซึ่งในวันนี้จะเป็นการเติมระหว่างกลางทางสู่ปลายทาง เพื่อไปบรรลุในเรื่องเชิงพาณิชย์ในการทำให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราตรงความต้องการของท้องตลาด นำไปสู่การใช้งานในหลายรูปแบบ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชาวสวนยางและผู้ประกอบการต่างๆ  รวมถึงสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนต่อไป โดยจะนำข้อสรุปเวทีในวันนี้นำเสนอต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต่อไป

จากนั้น นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสู่เชิงพาณิชย์” กล่าวตอนหนึ่งว่า การมาร่วมบรรยายในวันนี้เพราะเห็นเจตนารมณ์อุดมการณ์ความคิดที่ดีของประธาน กมธ. ที่อย่างน้อยวุฒิสภาคิดถึงเกษตรกรแขนงหนึ่ง คือเกษตรกรปลูกยางพารา คิดถึงการพัฒนา การผลักดันอย่างไรให้มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตนคิดว่าเป็นคุณูปการและมีประโยชน์ แม้แต่คิดก็มีกำไรและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางได้  ทั้งนี้การมาปลูกยางพารา ตนมาคลุกคลีเนื่องจากว่าวิถีชีวิต เราเรียนกันมาหลักสูตรระบบการศึกษาเราเป็นแบบท่องจำ แบบนกขุนทอง เราไม่ได้เรียนแบบการวิจัย ทดสอบ ทดลอง ค้นคว้า เราท่องจำกันมาตลอดว่าภาคเหนือมีป่าไม้สมบูรณ์ ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มทุ่งรวงทอง ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ภาคใต้ก็สวนยาง ดีบุก แร่ ส่วนภาคอีสานแห้งแล้ง เราเรียนและจำกันมาอย่างนี้ ไม่มีใครคาดคิดว่าภาคอีสานจะปลูกยางพาราได้ เพราะมันเชื่อแบบท่องจำ ไม่ได้เชื่อแบบการวิจัย ทดลอง ค้นคว้า ไม่ได้ทดลองเอายางไปปลูก สมัยนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีคนที่มันหัวแข็ง มันไม่เชื่อที่ครูสอนมา คนไหนไม่เชื่อครู ๆ ก็บอกว่าลูกศิษย์คิดทรยศครู ความเชื่อเรา ผู้ใหญ่บอกก็บอกกินอ้อยตรงโคนกระโดดน้ำตาย กินตรงปลายกระโดดน้ำเป็น โคนมันหวานมันไม่อยากให้เด็กกิน ผู้ใหญ่จะกินตรงโคนที่หวาน นี่คือความคิดที่มันผิดของสังคมเรา

นายพินิจ กล่าวอีกว่า ตอนหลังก็มีการไปทดลองปลูกยางจากภาคใต้เอายางไปปลูกที่อีสาน โดยสมัยนั้นกองทุนยังไม่มี การยางแห่งประเทศไทยเพิ่งมารวมกันในยุคหลังนี้ ยุคตนยังเป็นกองทุนสงเคราะห์ฯ ก็ไปปลูกแต่ว่าคนยังไม่เชื่อ ตนไปลงทุนปลูกยางที่ จ.อุดรธานี ซึ่งเรื่องพืชมี 3 เรื่องเท่านั้น คือ เมล็ดพันธุ์  ปุ๋ย และระบบชลประทาน ที่ต้องมีการพัฒนา มีสถาบันในการพัฒนาในเรื่องดิน เรื่องน้ำ ตนปลูกยางหน้าแล้ง ปกติเขาปลูกหน้าฝน ลูกน้องบอกว่ามันทำไม่ได้ แต่ตนสั่งว่าให้ทำเลย เพราะยางต้องการแดด มีปุ๋ยคือดินดี และมีระบบชลประทานที่ดี 3 เรื่องนี้เท่านั้น มันจะสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโต แต่เจ้าหน้าที่ไม่เคยไปสอนหรือส่งเสริมเรื่องนี้กับชาวบ้าน พอตนปลูก 50 วันไม่ถึง 2 เดือน มันก็แตกใบ พอฝนตกมายางตนขึ้นนำหน้าเขา ไม่ต้องรอถึง 7 ปี  ยางตนวัดจากโคนต้นไป 150 ซม. เส้นรอบวง 50 ซม. ตนเปิดกรีดได้แล้ว นี่คือการพัฒนาแต่ว่ามันไม่มีคนรู้จริงที่จะไปพัฒนา ซึ่งมาเลเซียนำหน้าไปกว่าไทยเพราะมีสถาบันวิจัยและพัฒนา ซึ่งเราก็เอามาจากมาเลเซียทั้งนั้น สิ่งนี้ทำให้มาเลเซียมีเศรษฐกิจที่มั่นคง

นายพินิจ กล่าวต่ออีกว่า ตนปลูกยางพารา เห็นมันงอกงามดี มันดูมีคุณค่า คนที่มีกำลังก็เริ่มทยอยปลูก จนวันนี้ จ.บึงกาฬ มีพื้นที่ปลูกยาง 1.2 แสนไร่ และมีการพัฒนาด้านต่างๆ วันนี้ราคายางก้อนถ้วย 34 บาท และคิดว่าน่าจะขึ้นถึง 35 บาท วันนี้ยางพาราขึ้นอยู่กับดีมานด์ ซัพพลาย นอกจากนั้นเงื่อนไขยังขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน และวิกฤติ เรื่องยางพาราไม่ต้องไปทำการตลาด เพราะมันเป็นที่ต้องการของตลาดโลก วันนี้ที่ราคายางพาราพุ่งเพราะว่าความขัดแย้งของโลก มหาอำนาจเกิด 2 ขั้วขึ้นมา และการเผชิญหน้าในยูเครน รัสเซีย ในตะวันออกกลาง และอีกหลายพื้นที่ ทั้งทะเลจีนใต้ รวมทั้งคาบสมุทรเกาหลี ทำให้มหาอำนาจต้องซื้อยางสต๊อกเข้า มหาอำนาจถ้าเกิดสงครามขึ้นมา ใครไม่มียางพาราแพ้เลย เพราะยางเป็นยุทธปัจจัย และยางอยู่ในตลาดล่วงหน้า ตลาดคอมมูนิตี้ มีไม่มาก เช่นเดียวกับทองคำ วันนี้ความขัดแย้งของโลก และมหาอำนาจสูงมาก ดังนั้นใครก็ต้องซื้อสต๊อกยางพาราเข้า ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้นราคาก็ขึ้นทุกตัวขึ้นหมด  

นายพินิจ กล่าวต่ออีกว่า ตนไม่คาดฝันว่ายางมันให้โบนัส วันนี้เราโค่นยางก็ได้ไร่ละ 3-4 หมื่นบาท ต้นหน้า 8-12 นิ้วก็มี 4 หมื่นบาท ถ้าหน้าตรงสวย ก็เป็นโบนัสอีก ปลูกใหม่รัฐบาลให้อีก 1 หมื่นกว่าบาท ตนปลูกยางก็ต้องเรียนรู้ปลูกกับมือ แม้ว่าชาวบ้านยังไม่เชื่อ แต่ตนคลุกขี้ไก่ขี้วัวด้วยมือตนเอง ต้องทำให้ชาวบ้านและลูกน้องเชื่อ ตนเป็นผู้แทนฯ แต่มือจับทั้งขี้ไก่ขี้วัว วันนี้ก็ยังทำเอง อย่างไรก็ตามวันนี้ประเทศไทยเป็นผู้ปลูกยาง ผลิตยาง ถือเป็นอันดับหนึ่งของโลก 30% เศษ ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ว่าผลผลิตต่อไร่ต่อปีเป็นอันดับ 10 ของโลก ข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรผลผลิตต่อไร่ต่อปีคือ 221  กก./ไร่/ปี แต่ของตนผลผลิต 300 กก./ไร่/ปีขึ้นไป  ตรงนี้เป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งมันอยู่ที่การพัฒนา การส่งเสริมในเรื่องเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ทำอย่างไรให้พัฒนาขึ้น ประเทศไทยเราทำการเกษตรที่ผ่านมาไม่เคยไปวัดค่าความเป็นกรดด่างของดิน ไม่รู้ว่าความเหมาะสมในการพัฒนาเรื่องดินใช้ปุ๋ยตัวไหนที่เหมาะสม  ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ด้วยการวิจัย วิเคราะห์ ในห้องปฏิบัติการ แต่ของเรามันใช้แต่ความเชื่อ มันเป็นแมนนวล เป็นความล้าหลัง และไม่ได้ใช้ไม่ได้ลงทุนด้านการวิจัยในห้องแล็บ

“เรื่องยางก็เช่นเดียวกัน ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ แล้วต้องลงมือทำ ไม่ใช่อยู่แต่ในกระดาษ เมืองไทยอยู่แต่ในกระดาษ ในที่ประชุม ประชุมไม่รู้กี่ประชุมแต่มันจับต้องไม่ได้ มันไม่ใช้แบบเยอรมนีหรือญี่ปุ่น วันนี้จีนเขาก็เอาแบบเยอรมนี เขาถึงมาไกลมาก เมื่อวานประกาศร่วมกับรัสเซียจะสร้างโรงงานนิวเคลียร์ที่ดวงจันทร์ในปี 2035  เขาไปถึงขนาดนั้นแล้ว จาก 100 ปีก่อนข้าวไม่พอกิน หนาวตาย ทุกวันนี้ประเทศจีนพัฒนา ทุกอย่างจะต้องใช้การวิเคราะห์วิจัย อย่าใช้คำว่าเชื่อเพราะเขาบอกมาแล้วเชื่อ ที่ผ่านมาเราหลงเชื่อฝรั่ง อย่าหลงเชื่ออเมริกัน ผมเดินจีนเต็มร้อยแต่ไม่ได้บอกว่าผมเป็นศัตรูกับอเมริกัน บางนโยบายก็ดี แต่ผมเป็นศัตรูกับอเมริกันในเรื่องนโยบายการแทรกแซงในการเอารัดเอาเปรียบและไม่เป็นธรรม ผลประโยชน์ของประเทศไทยต้องอยู่อันดับหนึ่งเหนือสิ่งอื่นใด ดังนั้นทุกอย่างมันอยู่ที่การวิจัยค้นคว้า ทดลอง ทดสอบ มันจะมีความถูกต้องขึ้น และเปอร์เซ็นต์คุณภาพมันจะสูงขึ้น” นายพินิจ กล่าว

นายพินิจ กล่าวว่า ดังนั้นเรื่องของยางพารา หรือในเรื่องของพืชตัวอื่นๆ อยู่ในหลักนี้คือการวิจัยและพัฒนา  ถ้าผลผลิตเฉลี่ย 300 กก./ไร่/ปี เงินจะเข้าประเทศอีกหลายแสนล้านบาท หากมันได้ถึง 400-500  กก./ไร่/ปี เราจะมีความสุขมาก ปลดหนี้ได้ ส่งลูกเรียนหนังสือได้ ทำอย่างไรให้เพิ่มมูลค่า การพัฒนายาง การเพิ่มมูลค่ายางคือการแปรรูปเท่านั้น แล้วการแปรรูปนั้นต้องเป็นทุนของคนไทย แม้ไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์แต่ต้องเป็นส่วนใหญ่ แปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการ ไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์ รถบรรทุก ยางเครื่องบิน เป็นต้น และรัฐบาลต้องส่งเสริมในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถ้ามาถึงปลายน้ำวันนี้มูลค่าของเรา 6 แสนกว่าล้านบาท มันก็จะเพิ่มได้อีกไม่รู้กี่เท่า ซึ่งการแปรรูปที่มีคุณภาพถือเป็นกุญแจสำคัญ

อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญในเรื่องยางพาราคือในเรื่องเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า ระบบชลประทาน เรื่องของปุ๋ย และการให้ความรู้เกษตรกร และหัวใจสำคัญคือการแปรรูป เรื่องตลาด ไม่ต้องห่วง ยางเท่าไรก็ซื้อขายได้หมด ไม่เคยมียางเหลือแม้แต่น้อย ผมและชาวสวนยางใน จ.บึงกาฬ ไม่เคยมีใครมียางแล้วขายไม่ออก มีแต่ถามว่าวันนี้มียางขายหรือไม่ กุญแจหลักๆ มันอยู่ตรงนี้ สำคัญคือวันนี้ต้องพัฒนาเจ้าหน้าที่ ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีความเป็นมืออาชีพ วันนี้พูดถึงการปราบยางเถื่อนตนหัวเราะ และคิดว่ามันต้องมีความรู้มากกว่านี้ ต้องรู้ว่าตลาดยาง ราคามันไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย แต่อยู่ที่โตคอม ญี่ปุ่น อยู่ที่สิงคโปร์ และตลาดที่ 3 วันนี้จีนทำที่เซี่ยงไฮ้ เป็นตลาดใหม่ มันเป็นตลาดล่วงหน้า เป็นคอมมูนิตี้ มันซื้อขายกันล่วงหน้า การขึ้นลงมันอยู่ที่นั่น คุณบอกว่าต้องปราบยางเถื่อน ยางในประเทศถึงจะราคาสูงขึ้น ตนไม่รู้ว่าสมอง หรือวิสัยทัศน์อาจจะมีปัญหาหรือไม่ ส่วนยางเถื่อนก็อาจจะเป็นเรื่องภาษี หรือคุณภาพอย่างอื่นไป แต่ว่าเข้ามาเยอะยิ่งดี โรงงานไทยจะได้วัตถุดิบราคาถูก แต่ไปคัดเลือกเรื่องของคุณภาพเอาเท่านั้น มันต้องรู้จริง มันถึงจะแก้ปัญหาได้ และภาครัฐต้องส่งเสริมจริงจัง

ทั้งนี้ภายในงานมีการจัดนิทรรศการและการนำเสนอผลงานการวิจัยและนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาเข้าร่วม.