สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ว่าคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติเห็นชอบ ร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขเนื้อหาบางส่วนของกฎหมายเกี่ยวกับครอบครัว โดยจะเปิดโอกาสให้คู่สมรสซึ่งหย่าร้างกันและมีบุตร สามารถดูแลบุตรร่วมกัน หากเป็นไปตามการบรรลุข้อตกลง และการประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่าย หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ ศาลครอบครัวอาจเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย


ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา สิทธิตามกฎหมายในการเลี้ยงดูบุตรมักเป็นของมารดา เมื่อเกิดกรณีสามีภรรยาหย่าร้างกัน โดยฝ่ายที่เห็นด้วยให้เหตุผลสนับสนุน ว่าเพื่อลดความเสี่ยงของการที่เด็กและเยาวชนจะเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง และการล่วงละเมิดทางเพศ


อย่างไรก็ตาม มีการให้ความเห็นจากหลายฝ่ายเพิ่มขึ้นในระยะหลัง ว่าการมอบสิทธิตามกฎหมายให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเด็ดขาด ในการเลี้ยงดูบุตร เสมือนเป็นการทำให้บุตรตัดขาดจากผู้ปกครองอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ร่วมให้กำเนิดไปโดยปริยาย และอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้เป็นบุตรในระยะยาว


ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื้อหาในร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นปรับแก้ ระบุด้วยว่า การให้สามีหรือภรรยาที่จะหย่าร้างได้รับสิทธิขาดเป็นผู้เลี้ยงดูบุตร ยังคงสามารถเกิดขึ้นได้ หากทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน หรือเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลครอบครัว เพื่อป้องกันไม่ให้บุตรเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES