นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประกาศค่าไฟฟ้าผันแปร งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 67 แบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ กรณีแรก จ่ายคืนหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คงค้างทั้งหมดในงวดเดียว 99,689 ล้านบาท จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเมื่อรวมค่าไฟฐานเรียกเก็บที่ 5.43 บาทต่อหน่วย กรณีที่ 2 คืนหนี้ กฟผ. เป็นเวลา 4 งวด งวดละ 24,922 ล้านบาท จะทำให้ค่าไฟฟ้า อยู่ที่ 4.34 บาทต่อหน่วย และกรณีที่ 3 แบ่งคืนหนี้ กฟผ. 7 งวด งวดละ 14,000 ล้านบาท จะทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดยเปิดรับฟังความเห็นวันที่ 8-22 มี.ค. 67 ว่า ไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าไฟที่ออกมา เนื่องจากมองว่า ยังสูงเกินไป แม้ระดับต่ำสุดจะอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย. 67) ก็ตาม เพราะต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ราคาลดลง ดังนั้นฝ่ายนโยบายควรทบทวนลดค่าไฟลงอีกเล็กน้อย เป็น 4.00-4.10 บาทต่อหน่วย จะเหมาะสมที่สุด

“หากลดค่าไฟลงอีกเป็นระดับ 4.00-4.10 บาทต่อหน่วย จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและภาครัฐในงบประมาณที่ต้องอุ้มกลุ่มเปราะบางในช่วงที่อากาศร้อนและประชาชนต้องใช้ปริมาณไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งขณะนี้เป็นฤดูร้อนคาดว่าจะทำให้ค่าไฟแพงขึ้นมาก และรัฐบาลก็ต้องหางบประมาณมาอุ้มกลุ่มเปราะบางและประชาชนเหมือนเช่นปีก่อนๆ อีก นอกจากนี้รัฐบาลควรเร่งนโยบายเชิงรุกตามที่หลายภาคส่วนเสนอแนะมาอย่างสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรมจะเหมาะสมกว่า” นายอิศเรศ กล่าว

ทั้งนี้ มุมมองของ ส.อ.ท. ต่อค่าไฟฟ้างวด 2 นี้ (พ.ค.-ส.ค. 67) พบว่า รัฐบาลมีการเปิดเผยข้อมูลมีมากขึ้น แต่ยังขาดนโยบายเชิงรุกในการลดค่าไฟฟ้าที่ต้นเหตุ และไทยไม่ควรพึ่งพิงโชคชะตา จากราคาพลังงานโลกที่ลดลง โดยไม่เร่งสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศ ซึ่งอยากตั้งคำถาม 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.จากปัญหาค้างหนี้ของ กฟผ. 1 แสนล้านบาท แต่ทำไมยังไม่มีการพิจารณามาตรการรีไฟแนนซ์มาช่วย 2.ทำไมปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ลดลงเหลือ 40% เดิม 42% ทั้งๆ ที่หลุมเอราวัณแตะ 800 ล้านหน่วยต่อวัน และทำไมต้องเพิ่มแอลเอ็นจีนำเข้าที่แพงกว่าอ่าวไทยอีก 3%

3.ควรทบทวนต้นทุนที่แฝงอยู่ในก๊าซธรรมชาติ เช่น ค่าผ่านท่อทั้งระบบ, ทบทวนราคาก๊าซธรรมชาติที่ขายโรงไฟฟ้าทุกประเภท ให้เป็นราคาเดียวกับระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ และ 4.ภาครัฐควรเร่งรัดนโยบายส่งเสริมโซลาร์เสรี และโซลาร์ภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาดรวมทั้งระบบ ด้วยราคาที่จูงใจ ที่รับซื้อคืนมากกว่าเน็ตบิลลิ่ง (ระบบการคำนวณค่าไฟฟ้าแบบคิดแยกระหว่างค่าซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้าสู่บ้านกับค่าขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ให้การไฟฟ้าและนำเงินค่าขายไฟฟ้ามาหักลบกันที่ใช้ในปัจจุบัน) และลดการนำเข้าแอลเอ็นจี อีกควรปลดล็อกใบอนุญาตโรงงาน (ร.ง.4) ไม่ใช่แค่โซลาร์ รูฟท็อปที่เกิน 1 เมกะวัตต์ แต่ควรรวมถึงโซลาร์ ฟาร์ม และโซลาร์ โฟลตติ้ง ด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อเลิกระบบอุปถัมภ์ทุนผูกขาดพลังงาน แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แก้โครงสร้างพลังงานที่ไม่เป็นธรรม.