สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ว่า ศูนย์บัญชาการภูมิภาคใต้ของกองทัพสหรัฐ (ยูเอสเซาท์คอม) ออกแถลงการณ์ เรื่องการอพยพเจ้าหน้าที่การทูตชาวอเมริกันบางส่วน ออกจากสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงปอร์โตแปรงซ์ ในเมืองหลวงของเฮติ โดยการอพยพเกิดขึ้นหลายเที่ยว ใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นพาหนะ


ขณะที่แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่า สถานเอกอัครราชทูตประจำเฮติ ยังคงเปิดให้บริการตามเวลาปกติ “แต่ด้วยจำนวนบุคลากรที่จำกัด”


ในเวลาเดียวกัน เอกอัครราชทูตของหลายประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งรวมถึงเยอรมนี อพยพเจ้าหน้าที่การทูต รวมถึงเอกอัครราชทูต ออกจากเฮติเช่นกัน


ส่วนประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (แคริคอม) เชิญเอกอัครราชทูตสหรัฐ แคนาดา ฝรั่งเศส และผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำเฮติ ให้เข้าร่วมการประชุมที่จาเมกา ในวันจันทร์ที่ 11 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ในเฮติ


ภาวะวิกฤติครั้งใหม่ในเฮติ ซึ่งทวีความรุนแรงตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จากการที่แก๊งอาชญากรรมตระเวนโจมตีทรัพย์สินของรัฐ รวมถึงเรือนจำอย่างน้อยสองแห่ง ส่งผลให้นักโทษหลบหนีออกไปมากกว่า 3,800 คน ว่าตอนนี้ชาวเฮติราว 362,000 คน กลายเป็นผู้ไร้ถิ่นฐานภายในประเทศ ตามรายงานโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม)


นอกจากนี้ แก๊งอาชญากรรมยังพยายามโจมตีทำเนียบประธานาธิบดี และสำนักงานตำรวจอีกหลายแห่ง หลังสามารถกดดันให้รัฐบาลต้องปิดท่าอากาศยานและท่าเรือ ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ อย่างไรก็ดี หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงของเฮตินำโดยกองกำลังตำรวจ ยังคงสามารถต้านทานเอาไว้ได้ โดยยืนยันว่า สามารถสังหาร “กลุ่มโจรหลายสิบราย”


ทั้งนี้ สถานการณ์ในเฮติอยู่ในสภาพไร้ขื่อแปอย่างหนัก นับตั้งแต่เกิดการลอบสังหารประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิส เมื่อปี 2564 ซึ่งทุกฝ่ายในเฮติยังไม่สามารถเฟ้นหาบุคคลดำรงตำแหน่งแทนได้ เฮติจึงอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลรักษาการนับจากนั้น ภายใต้การนำของนายอาเรียล อ็องรี นายกรัฐมนตรี


อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ สถานะของอ็องรียังไม่เป็นที่แน่ชัด และตอนนี้ยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้าเฮติได้ หลังเสร็จสิ้นภารกิจเยือนเคนยา เมื่อต้นเดือนนี้ แม้ทางการเปอร์โตริโกยืนยันว่า เครื่องบินส่วนตัวของอ็องรีลงจอดที่สนามบิน แต่ปฏิเสธให้ข้อมูล ว่าผู้นำเฮติยังอยู่ที่นี่ หรือเดินทางออกไปแล้ว


ด้านนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ เรียกร้อง “ความเร่งด่วน” ของการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองในเฮติ ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของบรรดาแก๊งอาชญากรรม โดยเฉพาะแก๊ง “จี9” ของนายจิมมี เชอริซิเยร์ หรือ “บาร์บีคิว” อดีตตำรวจ ซึ่งกล่าวว่า ตราบใดที่อ็องรียังไม่ยอมลาออก สถานการณ์จะยิ่งวุ่นวายและเลวร้ายจนยากเกินควบคุม และอาจลุกลามบานปลาย กลายเป็นเหตุนองเลือด และสงครามกลางเมือง.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES