ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อรับรองว่าธุรกิจนั้น ๆ มีการบริหารจัดการตามหลัก ESG ตรงตามเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งเกณฑ์การวัดผลจากการประเมินคะแนน ESG ที่องค์กรจะต้องตอบคำถาม รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งมิติด้าน  สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ

กลุ่มธุรกิจการแพทย์ และสุขภาพของไทย ถือเป็นกลุ่มดาวรุ่งที่ประเทศไทยยกให้เป็นธุรกิจนิวเอส–เคิร์พ ซึ่ง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือบีดีเอ็มเอส  ถือเป็น องค์กรธุรกิจด้านการแพทย์ และการดูแลสุขภาพรายแรกของไทยและเอเชียที่เข้าเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ล่าสุดในปี 65  บีดีเอ็มเอส ขึ้นแท่นเป็นที่ 1 ในด้านผู้นำด้านความยั่งยืนของโลก ในกลุ่มบริการทางการแพทย์ ทั้งในระดับโลก (DJSI World) เป็นปีแรก และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยคะแนนอันดับ 1 มิติด้านสังคม จากการประเมินของ เอส & พี โกลบอล

พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ถือเป็นความท้าทายที่ทั้งผู้บริหาร และทีมงานในองค์กร หารือร่วมกันว่า เราพร้อมจะก้าวต่อไปแล้วหรือยัง ได้รับคำตอบเดียว คือ ต้องไป ไม่ไปไม่ได้ เมื่อพิจารณาแล้วว่า ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยังไม่มีบริษัทใดเลยที่เป็นต้นแบบของความยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์  จึงเป็นความท้าทายอันดับหนึ่งของบีดีเอ็มเอส แต่ท้ายที่สุดเมื่อตัดสินใจที่จะทำแล้ว เราจึงขับเคลื่อนให้ทั้งองค์กรเห็นเป้าหมายร่วมกัน ผ่านการสื่อสารในทุกระดับ 

เพราะมองว่า การทำความเข้าใจภายในองค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญ เราตั้งใจจะไม่ทำท็อปอัพ หรือเป็นคำสั่งลงมา แต่ต้องทำไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการในหลายมิติ ซึ่งเราได้ลงมือทำมาตลอดสามปีที่ผ่านมา โดยรวบรวมข้อมูลภายในองค์กรทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล พบว่ามีบางส่วนที่เราดำเนินการอยู่แล้ว จากโรงพยาบาลทั้งหมด 50 กว่าแห่งทั่วประเทศ

“เราต้องรู้ว่า ปัจจุบันบริษัททั่วโลกให้ความสำคัญกับการบริหารและจัดการองค์กรอย่างยั่งยืน เรื่องนี้ต้องมองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยเกณฑ์การประเมินของประเทศไทยและต่างประเทศจะอยู่บนพื้นฐาน 3 ข้อเหมือนกัน คือ หลักการ ESG โดยในส่วนของบีดีเอ็มเอส เริ่มจากเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ THSI ก่อน เมื่อเราผ่านเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แล้ว บีดีเอ็มเอส ก็ตั้งเป้าหมายไปสู่ DJSI ซึ่งเราได้ดำเนินนโยบายสู่ความยั่งยืนต่อเนื่อง ทั้งการขับเคลื่อนด้านนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ พร้อมส่งเสริมบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เดินหน้าเป็นผู้นำและต้นแบบด้านการบริการสุขภาพเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีบนวิถีแห่งความยั่งยืน ที่ตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน พร้อมสร้างเครือข่ายการพัฒนาธุรกิจการแพทย์อย่างยั่งยืนทั้งห่วงโซ่อุปทาน ภายในปี 73”

จากความมุ่งมั่นผลักดันให้อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ของไทยสามารถดำเนินแนวทางความยั่งยืนตามมาตรฐานโลก และอยากเชิญชวนให้กลุ่มธุรกิจนี้ซึ่งล้วนมีพื้นฐานด้านความยั่งยืนกันอยู่แล้ว ร่วมพัฒนาต่อยอดไปด้วยกัน อาจฟังดูยาก เหมือนกับที่เราเคยคิดมาก่อน ซึ่งบีดีเอ็มเอสยินดีให้คำแนะนำ เพราะเราเชื่อว่า เมื่อมาทำด้วยกัน จะทำให้เกิดอิมแพ็คที่ดีกับอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์  โดย เป้าหมายการบริหารงานในปี 2567 นี้ จะพยายามหาเรื่องใหม่ ๆ ที่ท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ตรงกับธุรกิจสุขภาพที่ยังไม่มีใครเคยทำ นำมาพิจารณาเพิ่มมากขึ้น  และยืนยันว่า จะไม่ทำธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่สายสุขภาพ เพราะเรามีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้

ส่วนการสร้างเครือข่ายพัฒนาต่อยอดธุรกิจการแพทย์อย่างยั่งยืนภายใต้รูปแบบพาร์ตเนอร์นั้น ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การร่วมมือกับเอสซีจี ผลิตกระถางต้นไม้รีไซเคิลที่ทำมาจากถังนํ้ายาล้างไต เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวภายในอาคารของโรงพยาบาลในเครือฯ ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

“เรายังเน้นการเป็นกรีน ซัพพาย เชน คือ การสร้างอุปสงค์และอุปทาน ในประเทศ หลังจากที่ผ่านมาสิ่งที่เราเคยเจอในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เราหาของในประเทศไทยไม่ได้ ต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ยา หากเกิดวิกฤติใด ๆ ในประเทศ หรือ  ทั่วโลกอีก ที่ส่งผลให้ไม่สามารถส่งยามาจากต่างประเทศ เราควรจะมียาที่ผลิตในประเทศไทยได้ สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ  เพราะถ้าต้องนำเข้าของมาจากที่ไกล ๆ เราต้องมีการขนส่ง ที่เป็นสาเหตุหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากสามารถผลิตยาในประเทศเองได้ ในแง่ของเศรษฐกิจจะสามารถสนับสนุนความยั่งยืนขององค์กรได้เช่นกัน”.