สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ว่า “เอมเบอร์” คลังสมองด้านสภาพอากาศและพลังงานในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ประเมินจากการศึกษาว่า มลพิษจากก๊าซมีเทนในเหมืองถ่านหิน (ซีเอ็มเอ็ม) ของอินโดนีเซีย สูงกว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการถึง 8 เท่า

“ตัวเลขที่ไม่ตรงกันนั้นหมายความว่า อินโดนีเซียอาจทำลายจุดยืนระหว่างประเทศของตัวเอง ในความมุ่งมั่นที่จะลดก๊าซมีเทนทั่วโลกได้” นายโดดี เซเตียวาน นักวิเคราะห์อาวุโสด้านสภาพอากาศและพลังงานของอินโดนีเซีย จากเอมเบอร์ กล่าวในแถลงการณ์

อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่อันดับสามของโลก รองจากจีน และอินเดีย อีกทั้งยังเป็นผู้ส่งออกถ่านหินที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยในปี 2566 อินโดนีเซียผลิตถ่านหินสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 775 ล้านตัน และส่งออกถ่านหินมากกว่า 500 ล้านตัน ตามข้อมูลจากกระทรวงพลังงานอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามในปฏิญญามีเทนโลก (จีเอ็มพี) และรัฐบาลจาการ์ตาระบุว่า ประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการภายในประเทศอย่างครอบคลุม เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซมีเทนทั่วโลก ภายในปี 2573

อย่างไรก็ตาม เอมเบอร์ คาดการณ์ว่า อินโดนีเซียอาจปล่อยก๊าซมีเทนมากกว่า 1,000 กิโลตัน จากกิจกรรมการทำเหมืองถ่านหินในปีนี้ พร้อมกับเสริมว่า อินโดนีเซียใช้วิธีที่ล้าสมัย ในการประเมินการก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนประสบความล้มเหลว ในการรายงานซีเอ็มเอ็ม จากกิจกรรมทำเหมืองถ่านหินใต้ดิน ซึ่งอาจสูงกว่าการทำเหมืองบนพื้นดินอย่างมาก

“อินโดนีเซียต้องวางแผนติดตามการปล่อยมลพิษ และปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูลการทำเหมืองถ่านหินและก๊าซมีเทน เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายของปฏิญญามีเทนโลกได้อย่างครบถ้วน” นางโดโรธี เหมย จากองค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) “โกลบอล เอเนอร์จี มอนิเตอร์” หรือ “จีอีเอ็ม” กล่าวในแถลงการณ์.

เครดิตภาพ : AFP