เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นายจิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายสมาคมประมงพื้นบ้าน เปิดเผยว่า วันนี้ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน ใน 15 จังหวัดชายทะเลทั่วประเทศไทย ได้ร่วมกันส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัด ตลอดทั้งช่วงเช้าและบ่าย โดยในหนังสือระบุว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด เร่งส่งหนังสือและเอกสารข้อกังวลและข้อเสนอต่อการแก้ไขกฎหมายประมงฯ ของชาวประมงพื้นบ้าน ถึงสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว

นายจิรศักดิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ตามที่ ครม. เสนอ พร้อมกับฉบับของพรรคการเมืองต่างๆ อีก 7 ฉบับ และได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 37 คน ไปพิจารณารายละเอียด โดยใช้ร่างฉบับของ ครม. เป็นฉบับหลัก ในการพิจารณา และมีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้ว 2 ครั้ง ซึ่งตนมองว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะยกเลิกการคุ้มครองช่วยเหลือประมงพื้นบ้าน โดยอ้างว่าจะส่งเสริมไปพร้อมกับการประมงอื่นๆ  ตนอ่านแล้วพบว่าในร่างกฎหมายฉบับเดียวกัน กลับกำหนดให้ส่งเสริมการประมงพาณิชย์คู่ไปกับประมงพื้นบ้านและประมงน้ำจืด ไม่ต้องปกป้องชุมชนท้องถิ่น กำหนดให้ส่งเสริมการประมงนอกน่านน้ำไทย กำหนดให้รัฐบาลต้องมีแผนในการส่งเสริมการประมงในน่านน้ำ กำหนดให้มีแผนส่งเสริมการประมงนอกน่านน้ำ กำหนดให้มีแผนส่งเสริมการเพาะเลี้ยง ให้มีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมง แต่กลับไม่มีแผนการส่งเสริมการประมงพื้นบ้าน ทั้งที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้ประกอบการประมงทั้งหมดแต่อย่างใด

นายสะมะแอ เจะมูดอ ผู้แทนชุมชนประมงใน จ.ปัตตานี กล่าวว่า วันนี้ตนและตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านได้เข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ถึงสภาผู้แทนราษฎร ในครั้งนี้ เพราะได้รับทราบเนื้อหาร่างกฎหมายประมงใหม่ฯ โดยเฉพาะฉบับร่างของ ครม. ได้มีแก้ไขใหม่ โดยอ้างว่า แก้ไขเพื่อประมงพื้นบ้าน แต่กลับมีการตัดข้อความสำคัญที่กฎหมายประมงเดิมเคยระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่า “เพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น” นั้น ตนและชาวประมงพื้นบ้านปัตตานี เห็นว่า เป็นการลดความสำคัญในการช่วยเหลือการประมงพื้นบ้านหรือการประมงขนาดเล็กลง ทั้งที่ทุกฝ่ายทราบดีว่า ชาวประมงพื้นบ้าน กับ ชาวประมงพาณิชย์ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ประเทศไทยควรมีมาตรการ ปกป้อง ส่งเสริม พัฒนาขีดความสามารถชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเอาไว้เป็นการเฉพาะที่มีมาตรการแตกต่างจากการประมงพาณิชย์

“การที่มีการแก้ไขโดยการตัดข้อความนี้ออก เท่ากับว่า ประเทศไทยไม่ต้องการคุ้มครองและสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านอีกต่อไป เปลี่ยนเป็นให้การช่วยเหลือการประมงรวมๆ ไปกับการประมงพาณิชย์ ที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ต่างกับการให้คนตัวใหญ่กับคนตัวเล็กแข่งขันกันอย่างไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น” นายสะมะแอ กล่าว

ขณะที่นายวิรชัช เจ๊ะเหล็ม ชาวประมงพื้นบ้านจาก จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ได้เข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช ถึงประธานรัฐสภา เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายประมงในครั้งนี้ หลายมาตราเป็นการจงใจทำลายชาวประมงพื้นบ้าน ด้วยการเปิดให้ลดเขตทะเลชายฝั่งลงได้อีกต่ำกว่า 1.5 ไมล์ทะเล ซึ่งต่ำกว่า 2,800 เมตร  น้อยกว่าการกำหนดเขตห้ามอวนลากอวนรุนที่ 3,000 เมตร ในอดีตเสียอีก ถือว่าเป็นการออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ชาวประมงพาณิชย์เกินไป โดยมีผลทำให้ประมงพาณิชย์ทุกประเภทสามารถเข้ามาทำประมงด้วยเครื่องมือหนักในเขตชายฝั่งได้ ทั้งที่เขตทะเลชายฝั่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญที่สุดของทะเลไทย  และยังแก้กฎหมายลดโทษสำหรับผู้กระทำผิดการประมงลงอีกนั้น ยิ่งทำให้ผู้ทำการประมงผิดกฎหมายย่ามใจ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย และจะเกิดผลร้ายทำลายแหล่งอาหารของชุมชนท้องถิ่นแน่นอนในอนาคต.