วันที่ 14 มี.ค. นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเจอปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการผลิตที่รุนแรง ทำให้กดดันศักยภาพเศรษฐกิจไทยให้ปรับลดลง ซึ่งตามศักยภาพอยู่ระดับ 3.4% แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำลงเหลือ 2.7% ในปีนี้ ซ้ำเติมการเติบโตเศรษฐกิจไทยระยะยาวที่มีทิศทางลดลง ส่วนหนึ่งมาจากผลิตภาพการผลิตของไทยต่ำลงเรื่อย ๆ จากปัญหาผลิตภาพแรงงานไทยลดลงและกฎเกณฑ์ภาครัฐจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องปัจจัยทุนของไทยที่มีแนวโน้มลดลงจากสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่ลดลงกว่าครึ่ง เหลือ 24% ของจีดีพี ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (เอฟดีไอ) ของไทยต่ำลงหากเทียบประเทศในภูมิภาคอาเซียน และปัจจัยกำลังแรงงานที่มีแนวโน้มลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความท้าทายสำคัญจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตอุตสาหกรรม แม้การผลิตในปี 67 จะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้จากแรงส่งของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ฟื้นตัวตามอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยยังผูกโยงกับห่วงโซ่อุปทานเก่าอยู่มาก และการที่เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนและห่วงโซ่การผลิตจีนมากท่ามกลางกระแสภูมิรัฐศาสตร์โลก

ขณะเดียวกันความสามารถของภาคการผลิตไทยในการปรับตัวกับห่วงโซ่การผลิตโลกใหม่และรูปแบบความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปได้ช้า ทำให้การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออกไทยยังทำได้ค่อนข้างจำกัด สะท้อนจากส่วนแบ่งยอดขายสินค้าส่งออกของไทยในตลาดโลกที่ยังใกล้เดิมมาตลอด 10 ปี

“การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยให้สอดรับกับกระแสความยั่งยืน การยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน”

นายสมประวิณ กล่าวว่า อีไอซีได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 67 เหลือ 2.7% จากเดิม 3% เพราะแรงส่งภาครัฐหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกจากความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 67 ในส่วนของเงินเฟ้อไทยที่ติดลบต่อเนื่องหลายเดือน ประเมินว่าไทยยังไม่เผชิญภาวะเงินฝืด แต่เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงจากห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักมาจากสถานการณ์ทะเลแดง สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงนโยบายควบคุมการส่งออกของบางประเทศที่อาจทำให้ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดเพิ่มขึ้น

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดจะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ 2.5% มาอยู่ที่ 2% ภายในครึ่งแรกของปีนี้ เพื่อรักษาบทบาทนโยบายการเงินที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจไว้เช่นเดิม ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไป และยังมีผลช่วยบรรเทาภาระหนี้สูง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและครัวเรือนเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่น รวมถึงช่วยเพิ่มปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทย ท่ามกลางแรงส่งภาครัฐที่ยังติดขัดในปีนี้ได้อีกทาง