เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 มี.ค. นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดแนวทางแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ณ ห้องประชุมสถานีตำรวจภูธรหมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

โดยมีนายวิจิตร กิจวิรัตน์ รอง ผวจ.นครราชสีมา นายจิรพงษ์ คูหากาญน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง นายวัฒนา มังธิสาร รองเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.), พล.ต.ถนอม สบายพร รอง ผอ.ศปป.4 กอ.รมน. พล.ท.ชัยสิทธิ์ ปรียานุภาพ ที่ปรึกษาด้านการปรับปรุงแผนที่เขตที่ดินแห่งรัฐฯ นายมูฮัมหมาด ยังหะสัน ผอ.กองที่ดินของรัฐ นายอำนวยชัย โฆษิตภานิชยกุล ผอ.กองกฎหมาย นายไกรศรี สว่างศรี ผอ.ส่วนแผนที่และเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมที่ดิน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นิคมสร้างตนเองลำตะคอง สำนักงานคณะกรรมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดนครราชสีมา ตำรวจ ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อประชุมและเพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง และหารือปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1: 400 (one map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ปราจีนบุรี นครนายก และสระบุรี

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ได้ลุกขึ้นอธิบายชี้แนวเขตในแผนที่ก่อนและหลังประกาศตั้งอุทยานฯ เขาใหญ่ ต่อที่ประชุม ว่าแผนที่ที่นำเสนอถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2505 แต่ก็มีหลายหน่วยงานมีการแย้ง และยึดถือแผนที่ของหน่วยงานตัวเอง และยังไม่มีข้อสรุปในที่ประชุม ซึ่งจะต้องให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อจะได้นำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.)

ต่อมาเวลา 13.30 น. นำคณะลงตรวจสอบพื้นที่ หมู่ 10 บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทแนวเขตระหว่างหน่วยงานของรัฐ คือ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดนครราชสีมา ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากกรณีมีกลุ่มนายทุน ที่ไม่ใช่เกษตรกรเข้าไปบุกรุกแผ้วถางป่า ในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2 จุด และพบหมุดนิรนาม ส.ป.ก.4-01 ปักแบ่งแปลงที่ดินกระจายในพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ กว่า 42 แปลง และยังมีการตีแปลงในผืนป่าอุทยานฯ อีกกว่า 2,993 ไร่ มีผู้เข้าไปแผ้วถางพื้นที่ป่าในเขต จนถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เขาใหญ่ เข้าจับกุม 2 จุด รวม 7 ราย จน นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิดอักษร ผอ.ฝ่ายอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช ลงพื้นที่ถอนหมุด ส.ป.ก.4-01 ที่ปักในเขตอุทยานฯ รวม 17 หลัก

ต่อมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อ้างว่าเป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็อ้างสิทธิว่าอยู่ในพื้นที่ของอุทยานฯ เพราะตั้งแต่ปี 2505 ที่ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้นมา ยังไม่มีการยกเลิกแนวเขต ซึ่งกรมแผนที่ทหารได้ลงพื้นที่ตรวจวัดแนวเขต พร้อมยืนยันว่า ส.ป.ก. ไม่ทับซ้อนแนวเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ จึงทำให้เกิดพิพาทกัน ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเดินทางลงพื้นที่ เช่น คณะกรรมาธิการ การที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เจ้าหน้าที่ ปปป. และ ป.ป.ท. ลงพื้นที่จุดข้อพิพาท ออก ส.ป.ก.4-01 เหวปลากั้ง และมีกลุ่มอนุรักษ์ 24 องค์กร ออกมาตั้งเวทีปกป้องผืนป่าเขาใหญ่ ตามที่มีข่าวตามสื่อต่างๆ

นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) กล่าวว่า วันนี้ได้ร่วมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เพื่อหาแนวทางและข้อมูลเสนอในที่ประชุม จะมีคณะทำงานลงมาอีกคณะ ได้นำแผนที่อุทยานฯ ปี 2505 เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีแผนที่ของตัวเองนำมาเสนอ ซึ่งวันนี้เป็นคู่มือการประชุม ก็ยังมีการคลาดเคลื่อน ต้องรอให้คณะอนุกรรมการลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อจะได้นำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.)

ด้าน นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ กล่าวว่า อันที่จริงไม่มีอะไรซับซ้อนมาก การกำหนดแนวเขตอุทยานฯ ปี 2505 นั้น มีแผนที่ชัดเจน ประกอบกับแผนที่ของกรมป่าไม้ แต่การนำเสนอมีหลายหน่วยงาน บางหน่วยงานหาวิธีการดึงเกม ขอพิสูจน์ดิน พิสูจน์แก่นไม้ เคยเป็นสวนป่ามาก่อนหรือไม่ หรือเคยมีราษฎรเข้าไปทำกินมาก่อนหรือไม่ ซึ่งมันก็ไม่เกี่ยวกับการตรวจชี้แนวเขต ซึ่งตนยืนยันตามแนวเขตของกรมอุทยานแห่งชาติ ปี 2505 หากตกลงไม่ได้ก็เจอกันที่ศาล.