นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานหอการค้าภาคกลาง นำคณะกรรมการหอการค้าภาคกลางลงพื้นที่เยี่ยมเยือนหอการค้า จ.สมุทรสงคราม โดยนายอุทัย ดำรงธรรม ประธานหอการค้า จ.สมุทรสงคราม นำคณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการหอการค้า จ.สมุทรสงคราม ให้การต้อนรับ และนำเข้าสักการะหลวงพ่อนิลมณี ภายในอุโบสถปรกโพธิ์ วัดบางกุ้ง ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา และถูกปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ 4 ชนิด คือต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร และต้นกร่าง จนเป็นอันซีนไทยแลนด์ มีอายุมากกว่า 200 ปี

จากนั้นได้ไปที่ท่าเทียบเรือโรงน้ำแข็งสหะ ต.บางจะเกร็ง เพื่อรับฟังปัญหาพื้นที่ป่าชายเลนทับพื้นที่เศรษฐกิจ โดยนายอุทัย ดำรงธรรม ประธานหอการค้า จ.สมุทรสงคราม ให้ข้อมูลสรุปว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2530 เรื่องการจําแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลนและมติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กําหนดพื้นที่เขตอนุรักษ์ของกฎหมายป่าชายเลนไว้บริเวณขอบพื้นที่ 4 ตําบล คือ ต.บางแก้ว ต.บางจะเกร็ง ต.แหลมใหญ่ และ ต.คลองโคน จากชายฝั่งออกไปตลอดแนวห้ามมิให้ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้ประโยชน์ แต่หากภาครัฐมีความจำเป็นจะต้องขออนุญาตยกเว้นต่อ ครม. เป็นกรณีพิเศษ ล่าสุดได้มีการเตรียมเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ 4 ตำบลดังกล่าว เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ขยายการครอบคลุมพื้นที่บนบกนับจากชายฝั่งขึ้นไป 1 กิโลเมตร และพื้นที่ในทะเลอีกส่วนหนึ่ง อีกทั้งกฎหมายนี้ ยังห้ามมิให้ภาครัฐและเอกชนเข้าใช้ประโยชน์ และห้ามก่อสร้างเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่ 

นายอุทัย กล่าวว่า หากจะดำเนินการต้องทำโดยภาครัฐและขออนุญาตผ่อนผันตามมติ ครม. เป็นกรณีพิเศษ หรือต้องขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนด ทั้งที่บริเวณดังกล่าวไม่ใช่ป่าชายเลนและเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิที่มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน สถานประกอบกิจการที่เป็นไปตามกฎหมายผังเมืองและที่ได้รับการยกเว้นตั้งแต่ก่อนปี 2530 ก่อนมีการประกาศมติ ครม. เมื่อปี 2530 จึงเป็นอุปสรรคในการพัฒนาพื้นที่หรือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ใน จ.สมุทรสงคราม และยังเข้าข่ายลิดรอนจำกัดสิทธิในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ นอกจากนี้ยังอาจมีผลต่อระบบน้ำตามธรรมชาติ เนื่องจากพื้นที่ 4 ตำบล ไม่ใช่แหล่งรับน้ำจืด แต่เป็นพื้นที่ที่ต้องมีความสมดุล 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม 

อีกทั้งผู้นำท้องถิ่นทั้ง 4 ตำบลดังกล่าว ยังแย้งว่าประชาชนทั้ง 4 ตำบล ต้องการให้จัดเวทีรับฟังผู้มีส่วนได้เสียก่อนประกาศนี้ จะมีผลเนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ทราบรายละเอียดและยังไม่มีส่วนร่วม จึงกำหนดเวทีรับฟังผู้มีส่วนได้เสียประชาชนทั้ง 4 ตำบล ต่อร่างประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และขยายเวลารับฟังความคิดเห็นไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 

นายธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานหอการค้าภาคกลาง กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาระดับประเทศไม่ใช่แต่ จ.สมุทรสงคราม ที่มีผลกระทบ ยังรวมถึงจังหวัดชายฝั่งทะเลทั่วประเทศก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งหอการค้าจังหวัดภาคกลาง อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อนำสู่ที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับนโยบาย เพื่อจะแก้ไขปัญหานี้ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน

จากนั้นทั้งหมดได้เข้าพบนายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผวจ.สมุทรสงคราม ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาจังหวัด เช่น แนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณประโยชน์ใน ต.ลาดใหญ่ กว่า 1,200 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจ การสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง มีโครงการสำคัญคือ การสร้างสถานีรถไฟที่ ต.ลาดใหญ่ เพิ่มเติม เพื่อรองรับการเติบโตด้านการท่องเที่ยว และลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในตลาดร่มหุบบริเวณสถานีรถไฟแม่กลอง

นอกจากนี้ นายศิริศักดิ์ ยังกล่าวถึงปัญหาน้ำเค็มหนุนสูงรุกล้ำพื้นที่เรือกสวน ว่าล่าสุดชาวในสมุทรสงคราม ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านการขอเปลี่ยนจุดควบคุมความเค็มจาก อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ไปยัง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งห่างกัน 20 กิโลเมตรเพราะมีผลในการผันน้ำจืดลงมาผลักดันน้ำเค็ม ทั้งที่วัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อนแม่กลอง คือผลักดันน้ำเค็ม โดยอ้างอิงจุดควบคุมที่อัมพวา ดังนั้นหากมีการย้ายไป อาจจะเกิดผลกระทบน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรกว่า 100,000 ไร่ ใน จ.สมุทรสงคราม จึงขอให้คณะกรรมการหอการค้าไทย ช่วยผลักดันและติดตามเรื่องนี้อีกทางหนึ่ง

จากนั้นคณะกรรมการหอการค้าไทย และคณะกรรมการหอการค้าภาคกลาง ได้เดินทางไปชมตลาดร่มหุบ บริเวณสถานีรถไฟแม่กลอง ซึ่งเป็นอันซีนไทยแลนด์เป็นที่รู้จักและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ โดยมีพ่อค้าแม่ค้าตั้งแผงค้าขายและกางร่มริมทางรถไฟ เมื่อขบวนรถไฟเข้าออกสถานีจึงต้องหุบร่ม เป็นภาพที่น่าตื่นตาสำหรับชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวทั่วไป