เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กรณีศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ได้จัดแถลงผลการศึกษาการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา และห่วงใยว่าหน่วยงานใดกำกับดูแลเรื่องฉลากและโฆษณา ว่า เนื้อสัตว์สดไม่แปรรูป เช่น หมู ไก่ เนื้อ เป็นอาหารที่ไม่ต้องยื่นขอเลข อย. โดยมีข้อบังคับการแสดงฉลากและยกเว้น ดังนี้ กรณีได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงฉลาก เนื่องจากผู้จำหน่ายสามารถให้ข้อมูลผู้ซื้อได้โดยตรง ได้แก่ 1. เนื้อสัตว์สดที่ไม่ได้บรรจุในภาชนะบรรจุ เช่น หมูที่วางบนเขียงเนื้อหมูในตลาดสด หรือเนื้อหมูที่วางในถาดที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต 2. เนื้อสัตว์สดที่ไม่ผ่านการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใด เช่น ปลาทั้งตัว ไก่ทั้งตัว 3. เนื้อสัตว์สดที่ผ่านการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด อยู่ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย และผู้ตัดแต่งจำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค

ส่วนกรณีต้องแสดงฉลาก 1. เนื้อสัตว์สด ที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด อยู่ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย และส่งไปจำหน่ายสถานที่ต่าง ๆ 2. เนื้อสัตว์สดในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย ที่ผู้ประกอบการต้องการแสดงฉลาก ทั้งนี้ การแสดงฉลากทั้งสองกรณี อย่างน้อยต้องแสดงข้อความ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต ปริมาณสุทธิ วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน

รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า สำหรับการโฆษณาคุณประโยชน์ และคุณภาพอาหารสด ต้องขออนุญาตและห้ามไม่ให้ผู้ใดโฆษณาอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ส่วนการใช้คำว่า “ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์”, “ผลิตภัณฑ์อินทรีย์”, “ออร์กานิก”, “ออร์แกนิก” หรือ “organic” อาหารนั้นจะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ หรือหน่วยงานเอกชนที่รัฐรับรอง เช่น เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ภายใต้ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 (ฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือได้รับการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ IFOAM (The International Federation of Organic Agriculture Movements) และการใช้คำว่า premium/Gold/Special/Extra/Supreme/Selected หรือข้อความในทำนองเดียวกัน ต้องมีหนังสือชี้แจงเกณฑ์คุณภาพของบริษัทผู้ผลิต รวมถึงการโฆษณาไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ทั้งนี้ หากไม่ขออนุญาตโฆษณา มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หากโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีแสดงฉลากไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

หากสงสัยว่ามีการกระทำฝ่าฝืนเรื่องฉลากและโฆษณาอาหาร แจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ.